‘ปวดหลัง’ คำที่มีอยู่ในแทบทุกคอลเล็คชั่นสติ๊กเกอร์ไลน์ มันคืออาการเริ่มต้นของออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) หรือการปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนที่พบบ่อยในเหล่าคนทำงาน แม้การป่วยทางกายนี้อาจส่งผลต่อการทำงาน ชีวิต และจิตใจ แต่กลับถูกมองเป็น ‘เรื่องปกติ’ ของคนวัยทำงานที่ “ใครทนได้ก็ทนเอา” ใครทนไม่ได้ก็จัดการเอง
ออฟฟิศซินโดรมเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปัญหาสุขภาพเท่านั้น ยังมีความเจ็บป่วยทางกายและใจอีกหลายอย่างที่ถูกละเลยและมองข้าม บทความนี้ชวนผู้อ่านมองความเจ็บป่วยของคนทำงานใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงปัญหาส่วนตัว แต่คือ ‘แผลกดทับ’ ของโลกที่ขับเคลื่อนและแผ่ขยายผ่านการทำงาน และผลักให้เราถอยห่างจากการเยียวยา
ปัญหาที่พบเจอ
แบบสำรวจคุณภาพชีวิตและสภาวะหมดไฟในการทำงานของนักวาด ที่วิจัยโดยสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT) พบว่า 63.3% ของแรงงานศิลปะประสบกับปัญหาสุขภาพ ความเจ็บป่วยและโรคประจำตัว จนนักวาดส่วนหนึ่งต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นประจำเพื่อฟื้นฟูร่างกาย นอกจากอาการปวดหลังแล้ว พวกเขาต้องเผชิญกับภาวะอื่นๆ เช่น ปวดข้อมือ ไมเกรน ภูมิคุ้มกันต่ำ ปัญหาสายตา จนถึงเป็นโรคกระเพาะ นอกจากสุขภาพกาย คนทำงานศิลปะกว่าครึ่งค่อน (75.2%) ยังต่อสู้กับปัญหาทางจิตใจ อย่างความเครียด ความกังวล หรือความซึมเศร้าอีกด้วย
ปัญหาสุขภาพเหล่านี้ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน นักวาดกว่า 3 ใน 4 ต้องเผชิญกับความอ่อนเพลียและเหนื่อยล้าระหว่างทำงาน จนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ กว่า 7 ใน 10 เกิดความผิดพลาดในการทำงาน ตอบสนองการทำงานได้ช้าลง และไม่มีสมาธิ นอกจากนี้ ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบรู้สึกไม่มีความสุขในการสร้างสรรค์งาน และ 82.4% เผชิญกับสภาวะหมดไฟ
ปัญหาสุขภาพของคนทำงานวาดสอดคล้องกับเงื่อนไขการทำงานของพวกเขา เช่น การทำงานเป็นระยะเวลานาน นักวาดเกินครึ่งต้องทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 41.1% ทำงาน 48 – 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นักวาดหลายคนทำงานโดยไม่หยุดพัก 1 ใน 4 ของนักวาดเคยทำงานติดต่อกัน 12 ชั่วโมง นักวาดจำนวนหนึ่งทำงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง 48 ชั่วโมงหรือเกินกว่านั้น ขัดกับช่วงเวลาพักผ่อนที่นักวาดกว่าครึ่งพักก่อนเริ่มงานใหม่ (เทิร์นอะราวด์) โดยเฉลี่ยเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น
แต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องทำงานหนักและนานขนาดนี้ นอกจากปัจจัยเรื่องชิ้นงาน ที่บ้างใหญ่กว่าเวลากำหนดส่ง และบ้างต้องได้รับการแก้ไขหรือเก็บรายละเอียด รายได้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการทำงาน เนื่องจากคนทำงานวาดส่วนใหญ่ได้รับค่าตอบแทนรายชิ้นงาน โดยนักวาดกว่าครึ่งหนึ่งได้ค่าตอบแทนขั้นต่ำชิ้นละ 1,000 บาท ทำให้พวกเขาต้องรับงานจำนวนมากเพื่อให้มีรายรับที่เพียงพอ นักวาดกว่าครึ่งมีรายได้จากการวาดโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน มีเพียงราว 10% เท่านั้นที่ได้รายได้ต่อเดือน 25,000 บาทขึ้นไป ค่าตอบแทนที่ต่ำทำให้นักวาด 75% ไม่สามารถทำงานวาดเป็นงานประจำได้ และ 87% รู้สึกว่าคุณภาพชีวิตของตนเปราะบาง การหารายได้จากการวาดยังเจอกับความไม่เป็นธรรมในหลายมิติ ทั้งจากการโกงค่าจ้าง การได้รับค่าจ้างล่าช้า รวมถึงสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่มีสัญญาจ้าง
แน่นอนว่าการใช้ชีวิตนั้นสัมพันธ์กับสุขภาพ เพียงแต่ว่า ‘การใช้ชีวิต’ ของนักวาด เช่นเดียวกับชีวิตของคนทำงานอาชีพอื่นๆ นั้นแยกไม่ออกจากการทำงาน การหารายได้ และความมั่นคงบนโลกที่ไม่มั่นคง ปัญหาสุขภาพจึงเป็น ‘แผล’ ที่ทุน ‘กดทับ’ แลกมากับการทำงาน และคนทำงานเองก็ ‘กดทับ’ จนแผลดังกล่าวมันเป็น ‘เรื่องปกติ’ ที่ใครทนได้ก็ทนเอา
อ้างอิงข้อมูล
- แบบสำรวจคุณภาพชีวิตและสภาวะหมดไฟในการทำงาน ของ นักวาด โดย CUT
AUTHOR
สหายแอบข้าว
GRAPHIC DESIGN
ภูธรรมะ
สหายผู้เป็นดั่งผู้จัดการดาราของขบวนการเคลื่อนไหว