เราควรภูมิใจที่เป็นฝ่ายซ้ายหรือไม่

ต้องขอเกริ่นก่อนว่า การเป็นซ้ายในที่นี้ไม่ใช่เพียงการเข้าใจทฤษฎีฝ่ายซ้ายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการลงมือปฏิบัติการ กระทำทางการเมืองเพื่อทดสอบทฤษฎีที่ตนได้เรียนรู้มา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน การทำกลุ่มศึกษา การทำสื่อสารมวลชน ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทุกคนจะเป็นซ้าย แต่คนที่เป็นซ้ายทุกคนคือนักเคลื่อนไหว (ตามหลักการเรื่อง Praxis ที่ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติส่งผลสะท้อนกันไปมา)* ซึ่งต่อไปผู้เขียนจะเรียกว่า การเป็น ‘ซ้ายแบบ Militant’

อุดมการณ์ฝ่ายซ้าย เช่นเดียวกับอุดมการณ์ทางศาสนาและอุดมการณ์ทางการเมืองอื่นๆ ต่างมองว่าสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่นั้นมีเป้าหมายเพื่อให้สังคม ‘ดีขึ้น’ ส่วนจะดีขึ้นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับคำอธิบายของแต่ละอุดมการณ์ โดยปกติแล้ว เมื่อมนุษย์เราระลึกได้ว่าตัวเอง ‘ทำความดี’ การกระทำเหล่านั้นย่อมส่งผลให้ผู้กระทำเป็น ‘คนดี’ ที่ควรค่าแก่การภูมิใจในตนเองและการนับถือตัวเองตามมาด้วย 

ประสบการณ์ดังกล่าวเปรียบได้กับชาวพุทธที่ตื่นแต่เช้ามาใส่บาตรทุกวัน เมื่อได้ใส่บาตรแล้วก็จะเกิดความรู้สึก ‘อิ่มบุญ’ ซึ่งเป็นความปลิ้มปิติที่ได้ช่วยทำนุบำรุงพระศาสนา สำหรับศาสนิกชนที่มีศรัทธาแล้ว ความรู้สึกดังกล่าวคือความสุขที่ยิ่งกว่าสิ่งบันเทิงทั่วไปจะแทนที่ได้ เช่นเดียวกับความรู้สึกว่าตนเองเป็น ‘คนที่ดีขึ้น’ ก็ไม่อาจแทนที่ได้ด้วยการดูหนัง ฟังเพลง หรือ กิจกรรมสังสรรค์อื่นๆ เช่นกัน 

สำหรับพวกเราชาวฝ่ายซ้าย ที่โดยหลักการแล้ว พวกเราต่อต้านศาสนา เพราะมองว่ามันเป็น ‘ยาฝิ่นของประชาชน’ พวกเราจึงมีแนวโน้มที่จะต่อต้านทุกๆ สิ่งที่มาจากศาสนา หรือทำให้เรา ‘ดูคล้าย’ คนมีศาสนา จากข้อสังเกตของผู้เขียนที่เป็นฝ่ายซ้ายและนักเคลื่อนไหวมาสักระยะ (อาจจะเป็นข้อสังเกตที่ผิดก็ได้) พบว่า ฝ่ายซ้ายเรามัก ‘ปฏิเสธ’ ความรู้สึกยินดีอันลึกซึ้งต่อการกระทำทางการเมืองของตัวเอง ซึ่งเทียบเคียงได้กับ ‘การทำความดี’ ของศาสนาอื่นๆ โดยแทนที่เราจะชื่นชมตนเอง หรือสหายของเราที่กระทำการนั้นๆ ด้วยความรู้สึกยินดีอย่างจริงจัง เรากลับเลือกที่จะปล่อยผ่าน หรือชมแบบจืดๆ ตามมารยาท (หรือชมในฐานะที่เขาเป็นเพื่อนเรา ไม่ใช่ในฐานะคนที่แชร์อุดมการณ์และกำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน)

หากบอกว่า “เพราะเรายังปฏิวัติไม่สำเร็จ เราจึงยังไม่ควรดีใจ!” ก็คงไม่มีน้ำหนัก เพราะเมื่อคนพุทธใส่บาตรแล้วเกิดความรู้สึกปิติ ก็ยังไม่ใช่วันที่พระศรีอารย์เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ หรือเมื่อคนมุสลิมรู้สึกซาบซึ้งเมื่อได้ยินเสียงอ่านอัลกุรอาน ก็ยังไม่ใช่วันกิยามะฮฺ (วันพิพากษา) เราอาจจะมีมุขตลกล้อเลียนความเชื่อของศาสนิกชนเหล่านี้อยู่มากมาย แต่หากมองในฐานะของคู่แข่งในสงครามแย่งชิงมวลชนกันแล้ว ก็เห็นได้ชัดว่าเราอยู่ในสภาพเสียเปรียบเต็มประตู 

ปัญหาของเรื่องนี้คือ ฝ่ายซ้ายเรายังไม่เข้าใจกลไกการทำงานของอุดมการณ์มากพอ เราไม่กล้าที่จะยืดอกยอมรับว่า ‘การกระทำทางการเมือง’ ของเรา (เช่น กลุ่มศึกษา สหภาพ งานจัดตั้ง) เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่เราควรภูมิใจ และไม่ว่าใครทำก็ควรค่าแก่การถูกชื่นชม

เรากลัวว่าเราจะมี ‘อีโก้’ มากเกินไป จนกลายเป็นเหมือนสลิ่มที่ชอบเรียกตัวเองว่า ‘คนดี’

ในทางกลับกัน พวกเรากลับตั้งมาตรฐานกันเองสูงเกินไปว่าคนที่เป็นซ้ายนั้น นอกจากจะต้องทำปฏิบัติการทางการเมืองอย่างไม่ย่อท้อ ยังต้องประพฤติตนราวกับพระอรหันต์ที่ปราศจากอัตตา วิธีคิดเช่นนี้อาจไม่มีใครพูดออกมาตรง ๆ แต่ถ้าท่านผู้อ่านอยู่ในขบวนการมาสักระยะ อาจสัมผัสถึงบรรยากาศดังกล่าวได้

นอกจากนี้ เรายังประมาทและขาดความรู้ในการเข้าใจเรื่อง ‘อีโก้’ (ในความหมายว่าเป็นพฤติกรรมหลงตัวเอง) ว่านอกจากด้านของการยืดอกพูดอย่างจริงจังว่า “ฉันเป็นคนดี!” แล้ว ยังมีด้านของคนหลงตัวเองที่พูดทีเล่นทีจริงว่า

“กูก็ไม่ได้ฉลาดหรอก แต่คนพวกนั้นน่ะ โง่กว่ากู”

“กูก็ไม่ใช่คนดีหรอก แต่ไอ้นี่น่ะ มันชั่วกว่ากู” 

ในเรื่องนี้ ครั้งหนึ่ง สลาวอย ชิเช็ค (Slavoj Zizek) เคยได้อภิปรายไว้ว่า จริงๆ แล้วปัญหาของพวกคนคลั่งศาสนาที่ไปก่อเหตุกราดยิง หรือ ระเบิดพลีชีพใส่คนที่ไม่เคร่งศาสนา ไม่ใช่เพราะว่าพวกนี้มันอีโก้เกินไป หากแต่เป็นเพราะคนพวกนี้ ‘ไม่หลงตัวเองพอที่จะไม่อิจฉาคนอื่น’ หรือเป็นพวก ‘คลั่งปลอม’ ก็ว่าได้ ในขณะที่พวก ‘คลั่งแท้’ จะไม่สนใจโจมตีคนที่ไม่เคร่งเท่าตนเอง แต่มีความสุขกับการปลีกวิเวกไปอาศัยบนภูเขา ในถ้ำ และเพลิดเพลินใจกับการสรรเสริญพระเจ้าตามลำพัง 

ตัดภาพมาที่ขบวนการประชาธิปไตยประเทศเรา ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยสภาวะของการพยายามหาเรื่องจับผิดและทะเลาะกันโดยใช่เหตุอยู่เต็มไปหมด จริงอยู่ที่การวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบกันเองเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่หลายครั้งก็ดูเหมือนว่าพวกเรากำลังอยู่ในรายการเรียลลิตี้โชว์แบบบ้าน AF ที่จะคอยคัดคนที่มีข้อบกพร่องให้ต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านไปทีละคน ๆ

เราดูจะเอาจริงเอาจังกับการเพ่งโทษสามัญชนด้วยกันมากกว่าการปลดแอกหรือปฏิวัติด้วยซ้ำ

ทั้งที่จริงๆ กิจกรรมการเพ่งโทษ – รบพุ่งกันระหว่างกลุ่มสมควรโดนปรามาสว่าเป็นกิจกรรมที่ไร้สาระ ไม่เรียลลิสติก และไม่เกิดประโยชน์ (เพราะไม่นำไปสู่การปลดแอกใดใด) แต่สภาพปัจจุบัน คนที่จริงจังกับการปฏิวัติกลับถูกหัวเราะเยาะมากกว่ากลุ่มนักฉอดและนักจับผิดเสียอีก

ดูเหมือนว่าอารมณ์ไม่กี่อย่างที่ฝ่ายซ้ายพึงจะแชร์ร่วมกันได้ คือ ความโกรธแค้น และ การล้อเลียน ซึ่งแม้จะเป็นอารมณ์ที่เราใช้กันบ่อยในการทำลายความชอบธรรมชนชั้นปกครอง แต่ดูเหมือนว่าการเป็น ‘มนุษย์มิติเดียว’ (มีแค่อารมณ์โกรธตลอดเวลา) กลับเป็นดาบสองคมที่เชือดเฉือนพวกเดียวกันมากกว่าศัตรู

ในระยะยาว วัฒนธรรมการเพ่งโทษ การตั้งมาตรฐานจริยธรรมที่สูง (หรือจริงๆแล้วมาตรฐานนี้อาจไม่ได้เป็นปัญหาเท่ากับการแสดงออกในการจับผิด) และการเบียดเสียดแข่งขันกันเป็นผู้บริสุทธิ์ ยิ่งทำให้เสียมวลชนมากเข้าไปอีก เหมือนกับปรากฎการณ์ในอเมริกา ที่ชนชั้นรากหญ้าเลือกโหวตให้โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนฝ่ายขวาจัด ส่วนหนึ่งเพราะสำหรับฝ่ายก้าวหน้าชนชั้นกลางแล้ว คนรากหญ้าที่ถูกตีตราว่าเป็นคนไม่ ‘มีการศึกษา (Educated)’ พอที่จะตระหนักในเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม การเมืองวัฒนธรรม ฯลฯ นั้นไม่ควรค่าที่จะถูกนับว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าอันบริสุทธิ์ ชนชั้นล่างที่ถูกเบียดขับออกจากการเมืองก้าวหน้าจึงเปลี่ยนเลือกทรัมป์ที่มีความคิดร่วมกับตนแทน

ฝ่ายซ้ายจึงเป็นเพียงแค่เวทีแข่งกันทรมานตนเองของชนชั้นกลาง

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ลองสมมุติว่าระหว่างเราโพสต์ในเฟชบุคว่า 

1.“วันนี้เพิ่งทำกลุ่มศึกษาเสร็จมา มีคนมาเข้าร่วมเยอะเลย!” กับ

2.“รู้สึกเบิร์นเอาท์กับการทำการเมืองมากเลย ไม่อยากทำต่อละ”

ให้ทายว่าโพสต์ไหนจะมีคนเข้ามารีแอค หรือ คอมเมนท์มากกว่ากัน

แน่นอนว่าเป็นข้อ 2. ที่จะมีคนมาให้กำลังใจ ในขณะที่ข้อ 1. อาจถูกฝ่ายก้าวหน้าด้วยกันหมั่นไส้ด้วยซ้ำ

ที่ยกตัวอย่างนี้มาไม่ได้แปลว่าเราไม่ควรให้กำลังใจคนที่ท้อแท้ หากแต่อยากชวนคิดว่าวัฒนธรรมฝ่ายก้าวหน้าของเรา ‘ให้รางวัล’ กับพฤติกรรมแบบไหนมากกว่ากัน ระหว่าง

1.พฤติกรรมเชิงบวกที่สร้างความเข้มแข็งให้ขบวนการ 

2.การแสดงออกถึงความเจ็บป่วย เสียพลังกาย กำลังใจ

ทางที่ถูกเราควรเป็นกำลังใจสนับสนุนให้ทั้ง 2 กรณี เพราะสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มักเลือกทำพฤติกรรมที่ ‘ได้รับรางวัล (rewarded)’ มากกว่าอยู่แล้ว เราจึงต้องพัฒนาวัฒนธรรมของขบวนการในภาพรวมเพื่อให้กำลังใจแก่คนที่มุ่งมั่นทุ่มเท ไม่ใช่ต้องรอให้เขาเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต จึงค่อยมายกย่องว่าเป็น ‘วีรชนคนกล้า’

ดังนั้นผมมองว่าไม่ใช่เรื่องผิด หากแต่เป็นเรื่องจำเป็น ที่เราจะต้อง “มีอีโก้ในแบบซ้าย” 

เราจะต้องภูมิใจในตนเอง … เพราะเรา ‘เป็นซ้าย’

เราพิเศษกว่าคนอื่นๆ … เพราะเรา ‘เป็นซ้าย’

เราคู่ควรแก่การเคารพตัวเอง …เพราะเรา ‘เป็นซ้าย’ 

และเพราะเรา ‘เป็นซ้าย’ เราจึงต้องคอยตรวจสอบความคิดและการกระทำของเราว่าเป็นฝ่ายซ้ายที่ควรค่าแก่การยกย่องหรือเปล่า ?

เราต้องยินดีกับการดึงให้ตัวเองสูงขึ้น มิเช่นนั้น เราจะคอยเหยียบคนอื่นให้ต่ำลง (ด้วยการจับผิด ล้อเลียน เหยียดหยาม) ดังเช่นที่เคยทำ

เมื่อเราไม่เชื่อในพระเจ้าที่มองลงมาจากสวรรค์เพื่อตัดสินพฤติกรรมเราและให้รางวัลหรือลงโทษ

ก็ต้องเป็นเราเองที่ให้รางวัลตัวเอง เมื่อทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าเป็นสิ่งดี 

แต่ถ้ายังไม่เชื่อ ก็ค้นคว้าต่อไปจนกว่าจะเจอสิ่งที่ตัวเองเชื่อ 

และต้องเป็นเราเองที่ลงโทษและตักเตือน เมื่อทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าไม่ดี

และ “สิ่งที่ดี’ ในแบบฝ่ายซ้าย คือ ทุกการคิดและกระทำที่เป็นไปเพื่อความเข้มแข็งก้าวหน้าของขบวนการประชาธิปไตย เมื่อเราได้ทำสิ่งเหล่านี้ หรือ เห็นสหายของเราทำ เราก็ควรชื่นชมและสนับสนุน 

เมื่อเราเชื่อมต่อคุณค่าและความภูมิใจในตนเองเข้ากับการกระทำทางการเมืองได้แล้ว ก็จะไม่เกิดความรู้สึก insecure ที่ทำให้เราต้องโอ้อวด จับผิด หรือเหยียดหยามใคร สิ่งนี้ก็จะช่วยผลักดันให้เราอยากทุ่มเททั้งการคิดและปฏิบัติในแบบของเรา

ไม่ใช่เพื่อให้ใครเห็น แต่เพราะเราเชื่อมันจากใจจริงว่ามันเป็นที่ต้องทำ

เพื่อให้เราภูมิใจในตนเอง ในฐานะที่เป็นฝ่ายซ้าย.

“นักปรัชญาได้แต่ตีความโลกไปในแบบต่างๆ แต่สิ่งสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงโลก”

คาร์ล มาร์กซ์

AUTHOR

Comrade Sink Avatar

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *