ในระยะเวลาหลายปีมานี้ แนวคิดสุญนิยมหรือ ‘Nihilism’ เป็นสิ่งที่เราได้ยินคนพูดถึงบ่อยมากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านบทสนทนาในชีวิตประจำวัน สื่อ ภาพยนตร์ วิวาทะทางการเมือง หรือ (และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง) ปรัชญาในวงเหล้า
คำศัพท์อย่าง ‘nihilist’ หรือ ‘nihilistic’ ถูกนำมาใช้กันอย่างดาษดื่นทั้งในความหมายเชิงลบและเชิงบวก นักอนุรักษ์นิยมหลายคนออกมาพูดโจมตีคนที่ตั้งคำถามกับระบบคุณค่าแบบเดิมว่าเป็นภัยคุกคามจากลัทธิสุญนิยม ในขณะที่การนิยามตนเองว่าเป็น ‘nihilist’ นั้นกลับเป็นที่ยอมรับหรือแม้กระทั่งถูกมองว่าเป็นรสนิยมที่ ‘เท่’ ในความคิดของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับคอนเซ็ปต์อย่าง Soft Power, Blockchain หรือ Post-modern ‘Nihilism’ คือหนึ่งในคำที่เรามักจะคิดว่าตัวเองรู้จักและเข้าใจเป็นอย่างดี จนกระทั่งมีคนขอให้เรานิยามว่ามันหมายความว่าอย่างไร ในแง่หนึ่ง Nihilism ได้กลายมาเป็นความคลุมเครือแห่งยุคสมัยของเรา ความคลุมเครือที่ทำให้เราสามารถพูดให้คนอื่นดูแย่หรือทำให้ตัวเองดูดีได้อย่างง่ายดาย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจถึง ‘ความหมาย’ ของมันเสียด้วยซ้ำไป
อันที่จริงแล้ว นับเป็นความตลกร้ายอย่างหนึ่งที่ปรากฏการณ์เช่นนี้เองได้เผยให้เราเห็นถึงลักษณะเด่นของ Nihilism ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ Nihilism เกิดขึ้นเมื่อเราค้นพบว่าสิ่งต่างๆ รวมถึง ‘ชีวิต’ นั้น ‘ไร้ความหมาย’ (lack of meaning) และเลือกที่จะใช้ชีวิตของเราต่อไปในความไร้ความหมายนั้น ในขณะที่ ‘การมีความหมาย’ (meaningfulness) กลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีความหมายอีกต่อไป
บทความนี้ต้องการเชิญชวนให้ผู้อ่านหวนกลับมาทำความเข้าใจถึงแง่มุมอันสลับซับซ้อนของคำว่า ‘Nihilism’ รวมถึงตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดเราจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงแนวโน้มของ Nihilism ที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆ วันอย่างจริงจัง
ในช่วงเวลาที่ศรัทธา ความเชื่อ ประเพณี สถาบัน รวมถึงระบบคุณค่าต่างๆ กำลังถูกตั้งคำถามและตกเป็นเป้าหมายของการทำลายล้าง ชีวิตของ ‘มนุษย์ยุคใหม่’ กลับถูกแทนที่ด้วยความกลวงเปล่าอันไร้แก่นสารและปราศจากความหมาย คำถามสำคัญแห่งยุคสมัยจึงมีอยู่ว่า ‘อะไร’ คือสิ่งที่จะเข้ามาเติมเต็มความว่างเปล่านั้น เราจะให้ความหมายแก่ชีวิตของเราในฐานะมนุษย์ได้อย่างไร หรือเราจำเป็นต้องใช้ชีวิตที่ไร้ความหมายแบบนี้ต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คำตอบอาจมีทั้ง ‘ใช่’ และ ‘ไม่’
ความหมายของการไม่มีความหมาย
เมื่อเรานึกถึงคนที่ถูกเรียก (หรือเรียกตัวเอง) ว่าเป็น ‘นักสุญนิยม’ หรือ ‘nihilist’ เราก็มักจะนึกถึงคนเบียวๆ ที่มีคำพูดติดปากทำนองว่า “สรรพสิ่งล้วนไม่มีอยู่จริง”, “ทุกอย่างในโลกนี้ช่างไร้ความหมาย ชีวิตคนเราก็ไม่มีความหมาย” หรือ “ฉันไม่เชื่อในอะไรทั้งนั้น”
เราจึงพอจะสรุปได้ว่า พวกเขาเป็นคนที่ ‘ไม่เชื่อในอะไรเลย’ และดังนั้น เราก็อาจจะนิยามแนวคิด Nihilism ว่าเป็นแนวคิดที่เชื่อในเรื่องของ ‘การไม่เชื่อในอะไรเลย’ (to believe in nothing) ในกรณีนี้ โดยทั่วไปแล้ว Nihilism จึงหมายถึงสกุลทางความคิดที่เห็นว่าความจริง ความดี ความงาม รวมถึงคุณค่าต่างๆ นั้นไม่มีอยู่จริง
อย่างไรก็ตาม ในหนังสือที่ชื่อ Nihilism (2019) โนเลน เกิร์ตซ์ (Nolen Gertz) ได้ชี้ชวนให้เราเห็นว่า ความเข้าใจที่เรามีต่อ Nihilism ในปัจจุบันนั้น แท้จริงแล้วอาจคลาดเคลื่อนไปจาก Nihilism ในความเข้าใจของนักคิดนักปรัชญาชาวตะวันตกที่มีมาก่อนหน้าอยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความคิดของนักปรัชญาชื่อก้องชาวเยอรมันอย่าง ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche) ที่ถือได้ว่าเป็น ‘ตัวพ่อ’ แห่ง Nihilism และมักจะถูกอ้างถึงอยู่บ่อยๆ บทความนี้จึงเลือกใช้กรอบการวิเคราะห์ของเกิร์ตซ์เพื่อชี้ให้เห็นว่าแนวคิด Nihilism โดยเฉพาะ Nihilism ของนีทเชอนั้น อาจไม่เป็นแบบที่เรา (หรือวัยรุ่น Reddit) เข้าใจกันโดยทั่วไป
สำหรับเกิร์ตซ์แล้ว ‘การไม่เชื่อในอะไรเลย’ (believe in nothing) ไม่ได้แปลว่าเราเชื่อในความว่างเปล่าที่ไม่มีอะไรอยู่เลย (believe in nothingness) แต่หมายถึงการที่สิ่งที่เรา (หรือคนอื่น) เชื่อนั้น แท้จริงแล้วไม่เป็นความจริงหรือไม่มีความหมายอะไรเลย (what we believe is equivalent to nothing)
ความเป็น ‘สุญญะ’ (nihil-) ในที่นี้จึงหมายถึงสภาวะที่ปราศจากความหมายหรือค่าความจริง กล่าวคือ ความหมายหรือคุณค่าของสิ่งที่เราเชื่อนั้นมีสภาพเป็นสุญญะนั่นเอง (ตรงจุดนี้จะเห็นได้ว่าแนวคิดสุญนิยมในปรัชญาตะวันตกนั้นค่อนข้างจะแตกต่างแนวคิดเรื่อง ‘สุญตา’ ในพุทธศาสนา)
ลองนึกถึงสถานการณ์ที่เพื่อนหรือแฟนของเราทักไลน์มาถามว่า “ทำอะไรอยู่” แล้วเราตอบว่า “ก็ไม่ได้ทำอะไรนะ” เวลาที่เราบอกว่า “ไม่ได้ทำอะไร” (doing nothing) เราไม่ได้กำลังหมายความว่าเรา ‘ไม่ได้ทำอะไรเลย’ จริงๆ แต่กำลังบอกว่าเรา ‘ไม่ได้ทำอะไรที่สลักสำคัญพอจะให้กล่าวถึง’ (doing nothing worth mentioning) ตัวอย่างเช่น เราอาจจะกำลังนอนอืดอยู่บนเตียงหรือกำลังไถหน้าจอโทรศัพท์ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดหมาย ดังนั้น การกล่าวว่า ‘ไม่มีอะไร’ หรือ ‘ไม่ได้ทำอะไร’ จึงเป็นการบอกโดยนัยว่า มันไม่มีอะไรที่สำคัญหรือมีความหมายพอให้เอ่ยถึงต่างหาก
ในแง่นี้ เราจึงสามารถทำความเข้าใจ Nihilism ได้ในฐานะ ‘อุดมการณ์ที่ไร้ความหมาย’ (ideology of nothing) นั่นคือ หากเราเชื่อว่าชีวิตของเรามีความหมายบางอย่าง แต่ในความเป็นจริง เรากลับใช้ชีวิตอย่างเลื่อนลอย ในขณะที่การกระทำต่างๆ ในชีวิตของเราก็ไม่มีค่าพอจะให้กล่าวถึง นั่นแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วความเชื่อที่เรามีเกี่ยวกับชีวิตของเรานั้นไม่มีความหมายอะไรเลย เราเชื่อในความหมายของการมีชีวิตอยู่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เรากำลังใช้ชีวิตที่ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย
Nihilism จึงไม่ใช่แค่ ‘สำนักคิด’ ที่เชื้อเชิญให้เราเลือกที่จะ ‘ไม่เชื่อ’ ในความหมายของสิ่งต่างๆ แต่หมายถึง ‘สภาพการณ์’ ที่สิ่งที่เรา ‘เลือกที่จะเชื่อ’ นั้น แท้จริงแล้วกลับปราศจากความหมายหรือคุณค่าใดใดในตัวของมันเอง
เราจะเห็นว่า Nihilism นั้นไม่เชิงว่าจะเป็นการเชื่อว่าไม่มีอะไรที่ดำรงอยู่จริงๆ เสียทีเดียว ในขณะเดียวกัน มันก็ไม่ใช่แค่การปฏิเสธความหมายของระบบคุณค่าและความเชื่อต่างๆ ที่ผู้คนหรือสังคมยึดถือ แต่ Nihilism คือ การที่ความหมายหรืออุดมการณ์ที่เรามอบให้แก่ชีวิตนั้นเป็นเพียงภาพมายาที่ห่างไกลและคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
อาจกล่าวได้ในอีกมุมว่า Nihilist ก็คือคนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างแท้จริง เพราะทัศนคติหรือความเชื่อที่เขายึดถือเป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตของตัวเองนั้น ปิดบังและซ่อนเร้นความเป็นจริงของชีวิตที่ไร้ซึ่งความหมาย และในท้ายที่สุด กลับนำไปสู่การปฏิเสธหรือหลีกหนีจากชีวิตเสียเอง
หน้าตาของการไม่มีความหมาย
หากได้ยินคำว่า Nihilism เมื่อไหร่ เราก็มักจะนึกถึงภาพของคนมืดหม่น มองโลกในแง่ลบ ไม่แยแสต่อความเป็นไปของสิ่งต่างๆ หรือชอบเสียดสีประชดประชันความเชื่อของคนอื่น แต่แท้จริงแล้ว Nihilism อาจเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพฤติกรรมเหล่านี้โดยสิ้นเชิง
เมื่อมองแบบผิวเผิน Nihilism อาจดูเป็นสิ่งใกล้เคียงกับการมองโลกในแง่ร้าย (Pessimism) เนื่องจากทั้งสองอย่างนี้ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากความหดหู่สิ้นหวังเมื่อต้องประสบพบเจอกับความเป็นจริงของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความตายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ความปรารถนาที่ไม่มีวันถูกเติมเต็ม หรือผลลัพธ์ของการกระทำที่ไม่เป็นไปดั่งที่หวัง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้ Nihilism แตกต่างจากการมองโลกในแง่ร้ายคือ วิธีการที่เรารับมือกับความสิ้นหวัง ในขณะที่คนที่มองโลกในแง่ร้ายใช้ชีวิตจมจ่อมอยู่กับความหดหู่สิ้นหวัง Nihilism กลับเป็นการพยายามจะหลีกหนีจากความจริงที่ว่าชีวิตของเราไม่มีความหวัง (หากไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างเลย)
ด้วยเหตุนี้ เกิร์ตซ์จึงตั้งข้อสังเกตว่า Nihilism นั้น ดูจะใกล้เคียงกับการมองโลกในแง่ดี (Optimism) เสียมากกว่า เพราะหากการมองโลกในแง่ดีหมายถึงการเฝ้ารอและเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจว่าจะมีบางสิ่งที่ดีเกิดขึ้นกับตัวเรา มันย่อมไม่นำพาชีวิตของเราไปสู่อะไรเลย
หากเรามองเรื่องนี้อย่างผิวเผินแล้ว ก็ดูเหมือนว่าการเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจ(รัฐและระบบทุนนิยม) คือ การทำในสิ่งตรงกันข้าม หรือการ ‘ปล่อยไหลตามใจตนเอง’ (หรือ อยากทำอะไรก็ทำ) และเรียกการกระทำเหล่านั้นว่า ‘เสรีภาพ-อิสรภาพ’ แต่ผู้เขียนขอเสนอว่าเราไม่ควรมองว่าการ “ขาดความสามารถในการควบคุมสิ่งใดๆ” นั้น คือ ‘เสรีภาพ-อิสรภาพ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการขาดการควบคุมนั้นๆ บั่นทอนอำนาจและศักยภาพของเราเอง
การเชื่อว่าทุกอย่างจะโอเคในท้ายที่สุด เชื่อว่ามีบางสิ่งที่เรามองไม่เห็นกำลังทำงานอยู่เบื้องหลังเพื่อนำพาชีวิตเราไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิม ในท้ายที่สุดแล้ว กลับทำให้เราละทิ้งความรับผิดชอบต่อชีวิตของตัวเองและกลายเป็นคนนิ่งเฉย คล้ายๆ กับที่เราเชื่อว่า ‘เวลาจะอยู่ข้างเรา’ แต่กลับเอาแต่รอให้มี ‘เมสสิยาห์’ หรือ ‘ผู้ปลดปล่อย’ มาเป็นตัวตายตัวแทนในการต่อสู้ทางการเมือง แทนที่จะทุ่มแรงทั้งกายและใจต่อสู้เพื่อมาให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราเชื่อมั่น
ปัญหาของ Nihilism จึงไม่ได้อยู่ที่การมองเห็นแง่มุมที่ไม่สวยงามหรือตระหนักว่าชีวิตของเราไร้ความหวัง แต่เป็นการที่ปฏิกริยาที่เรามีต่อความไม่สวยงามและความสิ้นหวังนั้น กลับเป็นการวิ่งหนีจากมันและทำเสมือนว่าทุกอย่างจะเป็นปกติได้โดยที่เราไม่ต้องลงมือทำอะไรเลย ในทางกลับกันแล้ว การไม่ทำอะไรเลยต่างหากคือความสิ้นหวังที่ไร้ความหมายอย่างแท้จริง
ดังนั้น ‘Nihilism’ ก็คือ ‘การหลบหนีจากความเป็นจริง’ (evasion of reality) ความเป็นจริงที่ว่าชีวิตของเรานั้นไม่ได้มีความหมายที่ถูกกำหนดให้มาตั้งแต่ต้น ไม่มีลิขิตของฟ้าที่จะนำพาเราไปสู่สิ่งใด ไม่มีพลังอำนาจพิเศษอื่นใดที่ทำงานอยู่เบื้องหลังโลกที่เราอาศัยอยู่ ทว่า ในการค้นพบความจริงข้อนั้น เรากลับเลือกที่จะเบือนหน้าหนีจากมัน และห่อหุ้มตัวเองภายใต้อุดมการณ์ความเชื่อที่กลวงเปล่า ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นพระเจ้า วิทยาศาสตร์ ทุนนิยม หรือความสุขล้นจากแนวคิดบริโภคนิยมที่ไม่มีความหมายอะไรเลยนอกจากมอบพันธะสัญญาลมๆ แล้งๆ ให้แก่เรา
หากเราทำตัวดีในชาตินี้ ก็จะได้มีความสุขชั่วนิรันดร์ในชาติหน้า หากเราเชื่อมั่นในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ สักวันมนุษยชาติอาจค้นพบวิธีที่จะหลีกเลี่ยงความตายของตัวเองได้ หากเราตั้งหน้าตั้งตาทำงานหาเงินมากพอ สักวันเราจะร่ำรวยและได้เสวยสุขบนกองเงินกองทอง หากเราหาความหมายให้แก่ชีวิตไม่ได้ ก็แค่แสวงหาความพึงพอใจจากการบริโภคสินค้าและบริการในโลกทุนนิยมไปจนวันตาย
เรายอมรับเอาสิ่งที่ไร้ความหมายเหล่านี้มากำหนดความหมายให้ชีวิตของเรา แทนที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กลายมาเป็นความหมายในการดำรงอยู่ด้วยตัวเอง ผลลัพธ์ของการทำเช่นนี้นำพาเราไปสู่ ‘การปฏิเสธชีวิต’ ปฏิเสธชีวิตในชาตินี้ ปฏิเสธความตายของตัวเอง ปฏิเสธความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่กดทับชีวิตของทุกคน และปฏิเสธคุณค่าหรือความหมายที่อยู่นอกระบอบบริโภคนิยม
ความน่าสะพรึงกลัวของ Nihilism จึงไม่ได้อยู่ที่การชี้ให้เห็นว่าชีวิต คุณค่า และศรัทธาความเชื่อของเราล้วนแล้วแต่ไม่มีความหมาย แต่ความน่าสะพรึงกลัวของ Nihilism คือ การที่เรายังคงมีชีวิตต่อไปได้โดยที่ไม่มีความหมายอะไรเลย สาระสำคัญของมันจึงอยู่ที่การ ‘เมินเฉย’ (denial)
เมินเฉยต่อชีวิต แล้วก้มหน้าก้มตาอยู่ต่อไปโดยปราศจากความหมาย..
(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป)