‘กรอบ’ เป็นการยากหากจะสื่อความหรือให้รู้สึกกับคำคำนี้ในเชิงบวก
มีคำ วลี และประโยคมากมายที่สื่อถึงคำว่า ‘กรอบ’ เช่นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันอย่าง ‘ขอบเขต’ หรือ ‘กฎเกณฑ์’ คำเหล่านี้ฟังดูแข็งทื่อและจำเจ จนวลีเด็ดในยุคปัจจุบันแนะนำให้เราคิดหรือทำสิ่งต่างๆ ‘นอกกรอบ’ ออกจาก ‘comfort zone’ หรือท้าทาย ‘ขีดจำกัด’ ของตัวเอง จนกลายเป็น ‘เฟอร์รารี่ที่ไม่เคยคิดเบรก’
กรอบกลายเป็นสิ่งขัดขวาง และขัดขากับตรรกะหลายอย่างของทุนนิยมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้า ความสำเร็จ หรือการสื่อสาร ทุนนิยมจึงกำจัดกรอบ หรืออย่างน้อยก็ลดคุณค่าของคำว่ากรอบในเชิงภาษา อย่างไรก็ดี การขูดรีดแรงงานและทรัพยากรต่างๆ มีแนวโน้มไร้ขอบเขต จนใครหลายคนโหยหา และการทวง ‘Boundary’ ของตัวเองคืนมา
บทความชุดนี้จะพาผู้อ่านทบทวนความหมายของกรอบ 3 ปะเภท ได้แก่ Comfort Zone, Echo Chamber และ Boundary ไม่ว่าคำดังกล่าวจะถูกตีความในเชิงบวกหรือลบ แต่สามคำนี้ล้วนแต่มีความเชื่อมโยงกับตรรกะและการขูดรีดของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ทั้งสิ้น
Comfort Zone
Comfort Zone คือสภาพแวดล้อม หรือพฤติกรรมที่เราคุ้นเคย หรือเคยชิน ให้ความรู้สึกปลอดสบายกาย-ใจ เป็นสภาวะที่ไม่มีความท้าทาย หรือเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก
Comfort Zone มีอยู่ในแนวคิด The Learning Zone Model ที่คิดค้นโดย Lev Vygotsky ที่เสนอว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อคนคนหนึ่งก้าวออกจาก Comfort Zone สู่พื้นที่ใหม่ที่เรียกว่า Learning Zone หรือลองทำสิ่งใหม่ๆ แม้คุณอาจเผชิญอุปสรรคขวากหนามในตอนต้น แต่หากคุณเอาชนะปัญหาต่างๆ ได้ คุณก็จะเข้าสู่ Growth Zone หรือพื้นที่ที่คุณเติบโตด้วยใจที่เปิดกว้าง แต่ถ้าคุณไปไกลเกินไป คุณอาจเข้าสู่ Panic Zone ซึ่งมีแต่อันตรายที่ถาโถมเข้ามา ในพื้นที่นี้ คุณอาจเผชิญกับความตื่นตระหนกจนไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้เลย
หากคิดจากความหมายข้างต้น Comfort Zone ดูเหมือนเป็นสิ่งจำเป็นของการใช้ชีวิต เพราะทุกการเติบโตล้วนเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง และเราเองต้องก้าวออกจากจุดเดิมเพื่อเพิ่มเติมทักษะและประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่แล้วไม่ใช่หรอ? นั่นอาจจริงหากตั้งต้นที่ปัจเจก
แต่ถ้าคุณพิจารณาถึงชีวิตที่วางอยู่บนสายพานของความ ‘รุดหน้า’ การเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการเรียนรู้ แต่ยังหมายถึงความรับผิดชอบ หรือเอาชีวิตรอด ผู้คนลองทำสิ่งใหม่ๆ อย่างการเรียนเขียนโค้ด หรือภาษาที่ 3-4-5 เพื่อเป็นผู้ถูกเลือกในตลาดของคนตกงาน ส่วนคนที่มีงานทำก็ต้องเจอกับการมอบหมายงาน ‘ใหม่ๆ’ ตั้งแต่โปรเจกต์ใหญ่ อยู่นอกขอบข่ายความสามารถ หรือความขัดแย้งในที่ทำงานที่เลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าคุณจะเครียดหรือกดดันเท่าไหร่ แต่มันคือ ‘ความท้าทาย’ ใหม่ๆ ที่เป็นเรื่องปกติของวัยทำงานไม่ใช่หรือ?
เรามาเดินออกมาไกลจาก Comfort Zone มาก มันยากเกินกว่าจะหันหลังกลับ และพอหันหลังกลับไป มันก็ไม่มี Comfort Zone หลงเหลือแล้ว Comfort Zone ถูกตีตราว่าเป็นที่ของคนขี้เกียจ และขี้แพ้ ตรงกันข้ามกับคำสอนในหนังสือและคอนเทนต์พัฒนาตัวเองที่พล่ามบอกให้เราขยัน เอาชนะตัวเองในเมื่อวาน ด้วยการก้าวไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ การไม่ออกจากคอมฟอร์ตโซนจึงทำให้คุณรู้สึกผิด และไร้ค่า ส่วนถ้าออกไปไกลๆ คุณอาจกลับมาพร้อมกับอาการ Burn out และ Imposter Syndrome
Comfort Zone กลายเป็นพื้นที่รกร้างที่ถูกสัมปทานด้วยการสร้างกำไร ห้องนอนอันแสนสุขสบายกลายเป็นออฟฟิศขนาดย่อม การจิบกาแฟยามเช้ากลายเป็นไพรม์ไทม์ของการเช็คข่าวสาร วันหยุดว่างๆ กลายเป็นช่วงเวลาของการฟังพ็อตแคสต์ รั้วรอบ Comfort Zone ถูกรื้อถอน จนกลายเป็นผืนเดียวกับ Learning Zone, Growth Zone หรือกระทั่ง Panic Zone (เช่นความเครียดที่โผล่ในฝันตอนหลับ)
ขณะเดียวกัน เมื่อ Comfort Zone ถูกตีแตก พื้นที่ของมันจึงกว้างขึ้น และกลืนกินเอาพื้นที่อื่นๆ เข้าไป ในพื้นที่ที่เราปลอดภัย คุ้นเคย และคุ้นชินที่สุด มันจะเต็มไปด้วยรสชาติของความท้าทายหรือแม้กระทั่งขมขื่นที่สุด แม้การท่องโลกโซเชียลจะทำให้เรารับรู้ข่าวสารมากมายไร้พรมแดน รู้แม้กระทั่งเรื่องที่เราไม่อยากจะรู้ และกลายเป็นความคุ้นชินของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว
ในทางกลับกัน ตรรกะของทุนนิยมก็กลายเป็น Comfort Zone ใหม่ของอุดมการณ์ทุนนิยมเช่นกัน ไม่กล้าทำงานให้ช้าลงเพราะกลัวว่าตนเองจะไม่สำเร็จ ไม่กล้าคัดค้านผู้มีอำนาจในที่ทำงานเพราะกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือทำลายโอกาส ไม่จนถึงการไม่กล้าท้าทายความเชื่อที่ทุนนิยมสร้างขึ้น เพราะเมื่อเราออกจาก Comfort Zone ทางอุดมการณ์ เราจะไม่สามารถหลอกตัวเองได้อีก
นั่นคือความจำเป็นของการสร้างขอบเขตให้ Comfort Zone เมื่อเราก้าวออกไปสู่โลกอันกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้ การเติบโต หรือแม้กระทั่งความตื่นตระหนก เราจะมี ‘บ้าน’ หลังเล็กๆ ให้ตัวเองพักผ่อน ปลอบประโลม ด้วยการทำหรืออยู่กับสิ่งที่คุ้นเคย ปลอดภัย และไม่จำเป็นต้องสร้างอะไรขึ้นมา นี่คือ Comfort Zone ที่จะทำให้ชีวิตที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้และการเติบโตเกิดขึ้นได้อย่างสมดุลกัน
Echo Chamber
ในโลก (ที่เราเชื่อว่า) ไร้พรมแดน Echo Chamber คือพรมแดนที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นเท่าไหร่
Echo Chamber ที่แปลตรงตัวว่า ‘ห้องสะท้อนเสียง’ มีอีกหนึ่งความหมายคือสภาวะที่ผู้คนได้ยิน รับรู้ หรือรับสารที่เห็นตรงกับความคิดของตนเท่านั้น
ในโลกแห่งความหลากหลายและความอดทนอดกลั้น รวมถึงเป็นโลกมีข้อมูลข่าวสารจากทั่วทุกสารทิศ Echo Chamber ดูเหมือนจะสื่อถึงความล้าสมัย ทั้งในทางการเมืองที่การรับข้อมูลใหม่ๆ (โดยเฉพาะจากฝั่งตรงข้าม) ฟังดูเท่าทันสถานการณ์และมีจิตใจเปิดกว้าง และในเชิงการสื่อสารหรือการตลาด Echo Chamber ก็ทำให้ยอดการรับรู้และการเข้าถึงในโซเชี่ยลมีเดียน้อยลง ส่งผลให้ยอดการซื้อขายสินค้าที่ลดลงด้วย
แม้คนยุคดิจิทัลจะไม่ค่อยชอบพอกับคำคำนี้เท่าไหร่ แต่มันก็ให้ประโยชน์มากมายมหาศาล ไม่ใช่กับใครที่ไหน แต่เป็นนายทุนแพล็ตฟอร์มดิจิตัลนั่นเอง! ใครที่เคยดูสารคดี หรืออ่านหนังสือ Surveillance Capitalism จะพบว่า แทนที่โซเชียลจะเปิดโอกาสให้เรารับรู้ถึงข้อมูลหรือความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง แต่อัลกอริทึมของมันกลับ ‘กรอง’ หรือ ‘เลือก’ สารต่าง ๆ ที่เหมาะกับความสนใจของผู้ใช้งาน ทำให้ผู้ใช้งานหลุดเข้าไปใน ‘ห้องสะท้อนเสียง’ ที่มีแต่เสียงคนที่คิดเหมือนเรา จนเสพติดการใช้งาน และสร้างกำไรให้เจ้าของแพล็ตฟอร์มเป็นกอบเป็นกำ
แต่เราไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่า Echo Chamber เป็นผู้ร้ายในตัวมันเอง ผู้เขียนขอเสนอการตีความคำคำนี้ใหม่ ด้วยการนำมันออกจากบริบทโลกออนไลน์ และวางลงบริบทโลกออฟไลน์แทน ‘เสียงสะท้อน’ ไม่เป็นแค่เสียงรบกวนที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ยังทำให้เราได้ยินเสียง อย่างเสียงของความคิด ความรู้สึก และเช่นเดียวกับกระจกเงาที่สะท้อนหน้าตาตัวเองฉันใด ห้องสะท้อนเสียงก็ทำให้เรารู้จักก้นบึ้งของความคิดและจิตใจตนเองฉันนั้น
นอกจากการทำความรู้จักตัวเอง การสะท้อนไปมาของเสียงในหัวยังทำให้เราได้ทำความเข้าใจ และตกตะกอนออกมาเป็นความคิด หรือผลงานชิ้นใหม่ ที่เราอาจไม่มีโอกาสได้ทำหากต้องรับสารและประมวลผลข้อมูลภายนอกตลอดเวลา Echo Chamber จึงเป็นพื้นที่แห่งการทดลองและสร้างสรรค์ที่โลกกว้างให้ไม่ได้
Echo Chamber ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในพื้นที่ของปัจเจก ความเป็นเพื่อนหรือชุมชนเองก็เป็น Echo Chamber ที่ดีได้เช่นกัน เราทุกคนคงเคยระบายหรือเล่าความลับกับเพื่อน และกำชับว่า “อย่าเอาเรื่องนี้ไปบอกใคร” ความเชื่อใจที่อบอวนอยู่ในหมู่เพื่อนนี่เองคือ Echo Chamber ที่เรื่องราวของเพื่อนจะไม่เล็ดลอดออกไป และทุกคนสามารถแบ่งปันเรื่องทุกข์ร้อนในใจโดยไม่มีใครตัดสิน
บรรยากาศที่อุ่นใจแบบนี้คงไม่มีอยู่ในสังคมแห่งการเปิดเผย (The Transparency Society) ที่ความคิด ความรู้สึก เรื่องราว หรือแม้แต่ความลับ จะไม่ได้สะท้อนอยู่ในห้องกระจกอีกต่อไป มันแพร่กระจายออกเร็วกว่าเสียง เปลี่ยนจากเรื่องส่วนตัวให้เป็นเรื่องสาธารณะ ทุนนิยมความรับรู้ที่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสด้วยการกระตุ้นให้คนเปิดเผยเรื่องราวตัวเองสู่โลกแห่งข้อมูล บ่งบอกความย้อนแย้งของตรรกะเสรีนิยมใหม่ที่ด้านหนึ่งปกป้องความเป็นส่วนตัว และในอีกด้านก็รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
วัตถุทางความคิดและจิตใจถูแขวนไว้บนหน้าฟีด ดึงทึ้งด้วยคอมเม้นต์เหน็บแนมในนามของ ‘ความเห็นต่าง’ และสลายไปก่อนจะกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ล้ำค่า เมื่อความลับไม่มีในโลก ความผูกพัน ความเชื่อใจก็เหือดหายไป พร้อมกับแอคเห็บที่แคบโพสเพื่อนมาประจาน
Boundary
หากเทียบกับสองคำข้างต้น คำคำนี้คงถูกให้ความหมายในแง่ดีที่สุด Boundary ที่แปลตรงตัวว่า ‘ขอบเขต’ หมายถึงการสร้างขอบเขตให้กับตนเองที่คนอื่นไม่สามารถข้ามมาได้ ถ้าเป็นภาษาไทย ก็คงคล้ายกับการ ‘ขีดเส้น’ นั่นเอง
การสร้าง boundary เป็นเครื่องมือสำคัญคนที่ถูกสอนมาแต่เด็กให้เสียสละ และคิดถึงคนอื่นก่อนตัวเองเสมอ มันทำให้ใครหลายคนไม่กล้าปฏิเสธการร้องขอจนรู้สึกเหนื่อยล้า และลืมความต้องการของตัวเอง การสร้าง Boundary จึงเป็นการทบทวนความต้องการ-ไม่ต้องการของตัวเรา สิ่งใดที่ทำแล้วสบายใจ/ไม่สบายใจ นั่นคือขอบเขตที่เราต้องกั้นเพื่อเคารพตนเอง แล้วคนอื่นก็ต้องเคารพขอบเขตของเรา เราสามารถสร้าง Boundary ง่ายๆ ด้วยการบอกข้อจำกัดของเรา และกล้าปฏิเสธ
มีหลายเหตุผลที่ทำให้คนสมัยใหม่ญาติดีกับคำว่า Boundary มากกว่ากรอบแบบอื่นๆ หนึ่ง มันเสริมสร้างพลังอำนาจ (empower) ให้แก่ผู้ใช้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะไร้อำนาจในความสัมพันธ์ เศรษฐกิจ การทำงาน หรือแม้แต่จิตใจ Boundary จะคอยสร้างเกาะกำบังให้กับผู้ยึดถือ และไม่ว่าเป้าหมายของคุณจะไกลแค่ไหน Boundary จะขจัดคนและสิ่งกีดขวางคุณออกจากเส้นทาง (เป้าหมาย หรือความต้องการของคุณ) กล่าวโดยย่อ ความหมายของมันไปด้วยกันได้ดีกับปัจเจกชนนิยม (individualism) นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม Boundary ดันปะทะกับวัฒนธรรมอื่นๆ ในโลกเสรีนิยมใหม่ อย่างความเชื่อที่ว่า ‘จงตอบรับทุกโอกาสที่เข้ามาในชีวิต’ ความ ‘productive’ หรือ ‘ลูกค้าคือพระเจ้า’ รวมถึงตรรกะแบบครอบครัวที่บูชา ‘ความกตัญญู’ จนทำให้บุพการีเดินข้ามกรอบของบุตรหลาน แล้วล้ำเส้นไปมาในนามของการ ‘ทดแทนบุญคุณ’ แนว Boundary จึงเข้าขาและขัดขากับอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ไปพร้อมกัน
Boundary ที่ในความหมายทั่วไปมีลักษณ์เป็น ‘เส้นสมมติ’ กล่าวคือเป็นขอบเขตที่แต่ละคนรับรู้ในความคิด ความรู้สึก และความต้องการของตัวเอง เส้นสมมตินี้อาจยอมหย่อนเมื่อเจอกับเงื่อนไขทางวัตถุ เช่นเงื่อนไขการทำงานที่เร่งผลิตภาพ หรือเงื่อนไขทางการเงินที่กดดันไม่ให้เราปฏิเสธงาน ทำให้ใครหลายคนต้องสละ Boundary ที่ตนตั้งไว้ และรับโทรศัพท์ในเวลากลางดึก
การสร้าง Boundary ที่แข็งแรงจึงต้องเปลี่ยนสถานะจากการเป็น ‘เส้นสมมติ’ ที่รับรู้กับเพียงหนึ่งคน หรือสองคน เป็น ‘เงื่อนไข’ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ‘ทางวัตถุ’ เช่น การรวมกลุ่มเป็นสหภาพ เพื่อเรียกร้องเวลาพักผ่อน หรือข้อกำหนดการทำงานนอกเวลางาน การยื่นเสนอกฎหมายวันหยุด การลาป่วย และลาคลอด รวมถึงสวัสดิการสำหรับคนว่างงาน นักเรียนนักศึกษา หรือแม่บ้าน เงื่อนไขทางวัตถุจะทำให้ Boundary ที่หลายคนตั้งไว้เกิดขึ้นได้จริง
ทั้งหมดนี้เป็นการมอง 3 กรอบใหม่ ที่ทวบทวนการให้ความหมายของมันในโลกเสรีนิยมใหม่ และมองความหมายของคำเหล่านี้นอกกรอบทุน ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งผู้อ่านจะคิดกับ 3 คำ รวมถึงแนวคิดเรื่อง ‘กรอบ’ และ ‘ขอบเขต’ ในแง่มุมที่ต่างออกไปไม่มากก็น้อย
ที่มา
Comfort Zone คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญต่อการพัฒนาตัวเอง
‘Echo Chamber’ เราต่างมีกะลาคนละใบ…ที่เข้าใจว่าคือโลกกว้าง
‘ลองเอาตัวเองมาก่อนคนอื่นบ้าง’ รู้จักสร้างขอบเขตความสบายใจและปลอดภัยด้วยตัวของเรา
Zuboff, Shoshana. (2019). The Age of Surveillance Capitalism: The Fight for a Human Future at the New Frontier of Power. PublicAffairs, New York.
Han, Byung Chul. (2012). The Transparency Society. Stanford University Press, California.