รีวิวหนังสือ : แด่มนุษย์ทำงานผู้แสนเจ็บปวด 

หนังสือ แด่มนุษย์ทำงานผู้แสนเจ็บปวด The Man Who Mistook His Job For His Life

เขียนโดย Naomi Shragai แปลโดย ทินกฤต กลิ่นหวล

สำนักพิมพ์ Cactus

ก่อนอ่านหนังสือเล่มนี้ ผู้รีวิวค่อนข้างสนใจเรื่องปัญหาสุขภาพกายและใจของคนทำงาน โดยให้ความสำคัญกับสภาพการทำงาน วัฒนธรรมการทำงานเป็นหลัก หนังสือเล่มนี้เปิดมุมมองทางจิตวิทยาให้คำปรึกษาในการมองปัญหาของคนทำงาน ซึ่งเป็นมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อย

หนังสือเล่มนี้เสนอว่า ผู้เขียนซึ่งเป็นนักให้คำปรึกษาคนทำงานภาคธุรกิจเล่าว่า ผู้คนต่างมีบาดแผลในอดีต ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ในวัยเด็ก หรือเหตุการณ์สะเทือนใจที่เกิดขึ้นไม่นาน แม้ผู้คนจะไม่แสดงบาดแผลเหล่านี้ออกมา แต่มันก็มีอิทธิพลต่อการมองโลก การรับมือต่อสถานการณ์ต่างๆ และการจัดการกับปัญหา

เมื่อผู้คนที่มีบาดแผลมาอยู่รวมกันใน ‘ที่ทำงาน’ สถานที่ซึ่งนอกจากจะเต็มไปด้วยความกดดันจากการทำงานเอง ยังมีความกดดันจากความสัมพันธ์ในที่ทำงาน วัฒนธรรมการทำงาน และภาระนอกเหนือจากงาน เช่น ครอบครัว มันจึงเป็นสถานที่ที่ความเจ็บปวดจากบาดแผลของแต่ละคนจะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งหากใครสักคนไม่สามารถมองสถานการณ์ในที่ทำงานแยกจากบาดแผลในอดีตได้ ก็มีแนวโน้มที่เขาจะทำความเข้าใจสถานการณ์ และตัดสินใจผิดพลาด จนส่งผลกระทบต่อการทำงาน และความสัมพันธ์ในที่ทำงานได้

หนังสือเล่มนี้พูดถึงนิสัยและพฤติกรรมหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นคนเพอร์เฟคชั่นนิสต์ คนที่ชอบเอาใจคนอื่น คนแสวงหาความสำเร็จ ไปจนถึงคนบ้าการควบคุม และคนหลงตัวเอง รวมถึงความขัดแย้งรูปแบบต่างๆ เช่น ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ไปจนถึงการแย่งชิงอำนาจ โดยผู้เขียนมองนิสัยเหล่านี้แบบเทาๆ ว่า ในด้านหนึ่งมันอาจมีผลดีหากอยู่ในระดับที่พอเหมาะ แต่หากนิสัยเหล่านี้กลืนกินพวกเราไป มันก็ส่งผลเสียต่อตนเอง และคนอื่นที่ทำงานกับเราด้วยเช่นกัน

วิธีการเล่าเรื่องของหนังสือจะยกนิสัยเหล่านี้ขึ้นมา และเล่านิสัยเหล่านี้ก่อตัวขึ้นมาจากอะไร มันประกอบด้วยความคิด ความรู้สึก หรือการตอบสนองรูปแบบใดบ้าง ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็ยกเรื่องราวของผู้คนที่มาขอคำปรึกษา ทั้งปัญหาที่เขาเจอในที่ทำงาน โยงกับประสบการณ์วัยเด็ก และหาทางออกต่อปัญหานั้นร่วมกัน หนังสือยังโยนคำถามว่าเรากำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ไหม แล้วเราจะเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหานี้อย่างไรบ้าง

บทส่งท้ายของหนังสือเล่มนี้ที่มีชื่อว่า “เรารักงาน แล้วงานจะรักเราตอบไหม” บอกกับเราว่า แม้ว่างานจะตอบสนองความต้องการ ความยอมรับ หรือการเติบโตกับใครหลายคนได้ แต่หากเรายึดโยงความรู้สึกเชิงบวกเข้ากับการทำงานมากเกินไป ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเราโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน

สิ่งที่ผู้รีวิวสนใจในหนังสือเล่มนี้ คือ ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษระหว่างวัฒนธรรมการทำงานกับบาดแผลในใจ บาดแผลและนิสัยบางประการ เช่นนิสัยบ้าคลั่งการแข่งขัน หรือกลัวความผิดพลาด ที่อาจกัดกินและทำร้ายคนทำงาน กลับเป็นนิสัยที่บริษัทต่างๆ ต้องการเพื่อให้คนทำงานขับเน้นการสร้างผลงานของตัวเองออกมาให้มากที่สุด แม้ว่าพนักงานจะขัดแย้งกันเอง หรือสูญเสียความมั่นใจก็ตาม ทางออกของปัญหาสุขภาพจิตคนทำงานจึงไม่ใช่แค่การจัดการกับอารมณ์ตัวเองเท่านั้น แต่คือการจัดการกับวัฒนธรรมองค์กรด้วย

หนังสือเล่มนี้ยังกระตุ้นให้เรานึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างการผลิต (งานในที่ทำงาน) และงานผลิตซ้ำ (งานที่ไม่มีรายได้ แต่หนุนเสริมการทำงานที่มีรายได้ เช่นการเลี้ยงดูครอบครัว การจัดการณ์อารมณ์ตนเอง การจัดการความสัมพันธ์ ฯลฯ) หนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ที่มีส่วน ‘ผลิตซ้ำ’ บุคลิกภาพของเด็กก็มีส่วน ‘ผลิตซ้ำ’ บุคลิกภาพของคนทำงาน และความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ดังนั้น งานดูแลเอาใจใส่ (care work) ซึ่งเป็นงานผลิตซ้ำที่ถูกมองเป็นภารกิจส่วนบุคคล เช่น ผู้ปกครองดูแลบุตร หรือคนทำงานดูแลตนเอง จึงมีอิทธิพลต่อสังคมวงกว้าง เด็กคนหนึ่งจะเติบโตเป็นคนทำงานที่มีสุขภาพจิตที่ดีได้ ก็ต่อเมื่องานดูแลเอาใจใส่ไม่ได้เป็นภาระของคนหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นการสนับสนุนที่สังคมมีร่วมกัน

ท้ายที่สุด แม้หนังสือเล่มนี้จะไม่ได้เสนอทางออกในเชิงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างตรงไปตรงมา แต่หากพวกเราเข้าใจบุคลิกภาพ ประสบการณ์ชีวิตของตนเองและผู้อื่น และเข้าใจปฏิสัมพันธ์ของคนกับงาน ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเยียวยาความเจ็บปวดและสร้างความสัมพันธ์อันดีของตนเองและผู้อื่น และการมองว่างานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต ก็อาจช่วยให้ผู้อ่านย้อนกลับมาสำรวจตัวเอง และเยียวยาตนเองเมื่องานไม่ได้รักเราตอบ


AUTHOR

สหายแอบข้าว Avatar

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *