Death Drive และ Enjoyment (jouissance) ของฝ่ายซ้าย

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการนำเสนอเครื่องมือใหม่ในการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายซ้ายไทย เพื่อชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของ Death Drive ขยายเพดานความเป็นไปได้ในการต่อสู้ทางการเมือง และเพื่อช่วยขยายความสนใจต่อทฤษฎีจิตวิเคราะห์แบบฝ่ายซ้าย (leftist psychoanalysis) ในประเทศไทยที่ได้มีผู้เบิกทางไว้ก่อนหน้าแล้ว ให้เป็นที่รับรู้มากขึ้น ทั้งนี้บทความนี้อาจไม่ได้อธิบายว่าอะไรคือทฤษฎีจิตวิเคราะห์โดยตรง แต่ผู้เขียนขอยกแนวคิดหนึ่งที่น่าศึกษาของจิตวิเคราะห์และแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักแนวคิดดังกล่าวก่อนเข้าสู่เนื้อหาหลัก

ผู้อ่านอาจสงสัยกันว่า ‘Death Drive’ คืออะไร?“แรงขับแห่งความตาย” หรอ? หรือคนเขียนกำลังบอกให้เราไป “ตายในการต่อสู้” หรอ?แน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งสองอย่าง ‘Death Drive’ ถูกค้นพบในงาน Beyond the pleasure principle ของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิเคราะห์คนสำคัญ โดยที่เขาไม่รู้ตัว  ในงานเขียนชิ้นนี้ เขาได้ใช้คำว่า Death instinct (Thanatos) ที่หมายถึงแรงขับตามสัญชาตญาณพื้นฐาน (ความก้าวร้าว) ของมนุษย์ ที่นำไปสู่ความรุนแรง ความเสี่ยง การทำลายล้าง และอาจเข้าใกล้ความตายในท้ายที่สุด เราควรกล่าวด้วยว่า แรงขับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการทางทางกายภาพ ชีวภาพ หรือในระดับจิตสำนึก แต่มีที่มาจากจิตไร้สำนึก (unconscious) ของมนุษย์

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)

ในภายหลัง เหล่านักคิดหลังฟรอยด์ (post Freudian) และคนสำคัญที่จะกล่าวถึงคือ ฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan) ได้นำทฤษฎีนี้มาพัฒนาทั้งความหมายและเปลี่ยนคำเรียก ให้กลายเป็นคำว่า Death Drive  สำหรับลากอง Death Drive คือแรงขับที่เกิดจากการที่องค์ประธานเผชิญหน้ากับ the Real และมันเป็นตัวแทนของ ‘การหวนคืน’ ชนิดหนึ่งที่นำไปสู่สภาวะอันไม่สามารถอธิบายได้ ที่ไม่ใช่สัญลักษณ์ของการเป็น (being)

ทฤษฎีของลากองอธิบายว่า ระเบียบเชิงสัญลักษณ์ (symbolic order) หรือระบบของภาษา กฎระเบียบของสังคม และวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่หล่อหลอมความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับความเป็นจริง (reality) อย่างไรก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เคยสมบูรณ์ในตัวเอง มันมักมีส่วนเกิน หรือสิ่งที่มีอยู่ก่อนหน้าระเบียบเชิงสัญลักษณ์ ลากองเรียกสิ่งนั้นว่า the Real ด้วยเหตุนี้ จึงเกิด ‘ช่องว่าง’หรือ ‘ความขาด’ ทะลุขึ้นมาในระเบียบเชิงสัญลักษณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ระเบียบเชิงสัญลักษณ์ไม่สามารถให้เป็นจริงได้อย่างหมดจดแก่องค์ประธาน  Death Drive เลยพยายามเข้ามาเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว ซึ่งแนวคิดดังกล่าวแตกต่างจากฟรอยด์ที่มองว่า Death Drive เป็นแรงขับพื้นฐานของมนุษย์ที่ทำงานในระดับจิตไร้สำนึก 

ฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan)

ต่อมา นักคิดฝ่ายซ้ายคนสำคัญอย่าง Slavoj Žižek ได้นำความคิดเรื่อง Death Drive มาอธิบายเสริมไว้ว่า Death Drive มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับแนวคิดเรื่อง paradox of enjoyment ที่หมายถึงการเพลิดเพลิน (enjoyment) กับความพ่ายแพ้ภายในจิตใจของตัวเอง ทั้งนี้เพราะเอนจอยเมนท์ไม่ได้เป็นเพียงความพึงพอใจ (pleasure) หรือความต้องการเฉพาะ แต่มันคือความล้นเกิน (excess) ที่เกิดจากความปรารถนาอันไม่สิ้นสุดที่ไม่ได้รับการตอบสนอง

กล่าวคือ เมื่อความปรารถนาล้นเกิน ความพึงพอใจจึงไม่น่าพอใจอีกต่อไป หรืออีกนัยหนึ่ง ความปรารถนาของเราไม่เคยได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อใดที่เรารู้สึกพึงพอใจ เราก็จะไม่รู้สึกปรารถนา ฉะนั้น ความปรารถนาจึงทำให้รู้สึกถึง ‘เอนจอยเมนท์’ ที่กลับหัวกลับหางกับความพึงพอใจ และการขาดสิ่งนี้ (ความพึงพอใจ) ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดแรงขับที่ความปราถนาของเราแสวงหาเป้าหมายใหม่ต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อเราย้อนดูในเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 62 จนถึงปัจจุบัน เราจะสังเกตุได้ว่า ฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายซ้ายมักไม่ได้ให้สำคัญ กับแนวคิด Death Drive ในทฤษฏีจิตวิเคราะห์ อาจเพราะไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ และเป็นของใหม่สำหรับขบวนการเคลื่อนไหวในไทย  หรืออีกมุมหนึ่งคือเราไม่พยายามเผชิญหน้ากับ ‘เอนจอยเมนท์’ ของ Death Drive

ในทางกลับกันสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นกับฝ่ายเผด็จการเช่นกัน เราอาจต้องเริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า “ทำไมคนพวกนี้ถึงเลือกใช้วิธีการที่ดูสร้างข้อกังขาให้ตัวเอง หรือพูดอะไรที่ดูไม่ฉลาดและใช้แต่อารมณ์” เช่น การโกงเลือกตั้งอย่างโจ่งแจ้ง การใช้กฏหมายม.112 เล่นงานผู้เห็นต่างอย่างไม่สนหลักการสากล การให้สัมภาษณ์ที่ขอไปทีใช้อารมณ์ฉุนเฉียวของนายก และการตอบคำถามในงานดีเบตต่าง ๆ ที่ดูจะไม่ฉลาดเอาเสียเลยในสายตาฝ่ายประชาธิปไตย

พวกเขาโง่จริงหรือ? ถ้าเรามองแค่ว่าคนพวกนี้โง่ และมีอำนาจเลยทำอะไรก็ได้ การต่อสู้ก็จะเป็นเพียงการปะทะกันระหว่าง ‘ความรู้’ กับ ‘อำนาจ’ หรือแค่ต้องมีผู้นำที่ฉลาดพอจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ แต่เราสามารถมองได้อีกมุม โดยการมองว่าทุกคนต่างเป็นองค์ประธานแห่งความปรารถนา (subject of desire) ที่มีความขาด ล้นเกิน และขัดแย้งในตัวเอง เพื่อที่จะปรารถนาต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด ความปราถนาจึงต้องขัดขาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ไปถึงจุดที่พึงพอใจ 

แบบแผนทางจิตใจนี้พบเห็นได้ในกระทำของกลุ่มผู้มีอำนาจทุกสังคม พวกเขามักจะทำอะไรให้มีข้อกังขา และถูกตั้งคำถามจากประชาชนอยู่บ่อย ๆ จนพวกเขาเริ่มสูญเสียอำนาจลงไปเรื่อย ๆ การกระทำเช่นนี้สะท้อนให้เราเห็นถึงการทำงานของ ‘เอนจอยเมนท์’ ที่มาจาก Death Drive มันคือการเอ็นจอยที่จะสูญเสียอำนาจ เพื่อที่จะได้ปรารถนาในอำนาจใหม่อีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้ไม่ได้ยอมรับว่าตัวเองกำลังเอ็นจอยกับการสูญเสียอำนาจ เราจึงเห็นความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับ ‘เอนจอยเมนท์’ โดยการอ้างภัยคุกคามจากภายในและนอก เช่น ขบวนการบ่อนทำลายชาติ พวกชังชาติ พวกที่ล้างสมองเด็กรุ่นใหม่ และพวกอเมริกาอยู่เบื้่องหลังเรื่องนี้  คนเหล่านี้ไม่ยอมรับว่ามันไม่มีชาติที่เป็นองค์รวมครบสมบูรณ์ หรือที่ลากองเรียกว่าปฏิเสธการตอน (castration) 

การอ้างภัยคุกคามความมั่นคงของชาติยังสัมพันธ์กับ Super Ego ที่อยู่ในรูปแบบ ระเบียบ คำสั่ง และกฎหมาย เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัย เป็นชาติที่มีความเป็นหนึ่งเดียว ให้กับประชาชนที่ถูกอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมขานเรียก

กล่าวให้ชัดเจนขึ้นคือ การสร้าง Ego ขององค์ประธานทำให้คนคนนั้นสามารถเข้าไปอยู่ร่วมสังคมกับคนอื่นได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง Ego ก็เป็นกำแพงที่ขวางกั้นความปรารถนาที่วุ่นวายและไม่สิ้นสุดของมนุษย์เอาไว้ และเมื่อมนุษย์เองไม่ได้ปรารถนาสิ่งที่ดีให้กับตัวเองเสมอไป  Ego จึงเปรียบเสมือนการมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ทำให้มนุษย์รู้สึกปลอดภัยจากความปรารถนาที่ไม่ดีต่อตัวเอง 

ความปลอดภัยนี้เองทำให้มนุษย์สร้างเป็นกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันในสังคม หรือ ‘Super Ego’ ซึ่งหากเปรียบเทียบให้ชัดเจน ฝั่งอนุรักษ์นิยมคือผู้ที่ยึดติดกับความปลอดภัยมั่นคง และการที่พวกเขาจะเอนจอยกับการยึดติดนี้ได้ จำเป็นต้องพึ่งพาภัยคุกคามหรือศัตรู ที่พยายามขโมยสิ่งที่พวกเขาไม่มีตั้งแต่แรก (the thing) นั่นคือกฎระเบียบที่สร้างความเป็นองค์รวมหรือเอกภาพของชาติ

เราจะสังเกตได้ว่า การที่ประชาชนฝั่งอนุรักษ์นิยมออกมาต่อต้านการยกเลิก ม.112 หรือการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ เป็นความพยายามปกติของความขาดพร่องหรือการไม่ยอมรับว่าที่จริงแล้วมันไม่เคยมีชาติที่เป็นองค์รวม มิหนำซ้ำการอ้างถึงภัยคุกคามทั้งจากภายในและนอกประเทศ อย่างอเมริกา เพื่อที่จะให้เพิ่มโทษใน ม.112 ได้รุนแรงขึ้นและเป็นการอ้างที่เข้มข้นขึ้นว่าประเทศไทยนั้นควรมีสถาบันกษัติย์ เพื่อทำให้พวกเขาเอนจอยกับการด่าทอ หรือทำร้ายผู้ที่เห็นต่างจากได้มากขึ้นในนามของผู้ที่รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ในทางกลับกัน ไม่ได้มีแต่ฝั่งอนุรักษ์นิยมที่พยายามไม่เผชิญหน้ากับ Death Drive และ ‘เอนจอยเมนท์’ ของตัวเอง แต่ฝั่งก้าวหน้าเองก็เช่นกัน เพราะในการเคลื่อนไหวและทางทฤษฎี เราให้ความสำคัญกับเรื่องของ ‘อำนาจ’ และ ‘ความรู้’ เป็นหลัก จนอาจละเลยความสำคัญของ ‘เอนจอยเมนท์’ ที่แฝงอยู่ในการกระทำทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย ในขณะที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมมีเอนจอยเมนท์ของ Super Ego ฝั่งก้าวหน้ากลับไม่มีเอนจอยเมนท์ในการต่อสู้

ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องนำเอนจอยเมนท์ของ Death Drive มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะอีกนัยหนึ่ง Death Drive คือสัญญะของการทำลาย ซึ่งเป็นสิ่งตรงข้ามกับการสร้างกฎระเบียบของ Super Ego อย่างที่ได้กล่าวในตอนต้นว่า Death Drive คือการเผชิญหน้ากับ the Real สิ่งที่เป็น the Real ของฝั่งประชาธิปไตยเข้าไปเผชิญหน้าคือความเป็นไม่เป็นองค์รวมของชาติ ความไม่เป็นธรรมของกฎหมาย และความล้มเหลวของสถาบันต่างๆ ทางการเมือง รวมไปถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำ Death Drive ของฝั่งประชาธิปไตยจึงก่อให้เกิดความพยายามในการทำลายสิ่งที่เหล่านี้ เพื่อเปิดทางไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่

ในการต่อสู้ ‘เอนจอยเมนท์’ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ดั่งที่ Zizek กล่าวไว้ว่า ‘enjoyment as a political factor’ เพราะมันทำให้ปัจเจกมีเครื่องมือการต่อสู้ที่ไปไกลกว่าแค่การเมืองเชิงอัตลักษณ์ เพราะเอนจอยเมนท์ในแบบ Death Drive คือการยอมสละอัตลักษณ์ส่วนตัว และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือการทิ้ง Ego ของตนเองที่ยึดติดกับการคิดคำนวนด้วยตรรกะของทุน รวมไปถึงการละเมิดปทัส-ถาน (normative) บางอย่างของสังคมที่ดูจะเป็นเรื่องปกติ เพื่อเข้าสู่การต่อสู้ร่วมกัน โดยจุดร่วมของฝั่งก้าวหน้าคือการเป็นผู้ถูกกระทำ(ขูดรีด)ร่วมกัน รวมถึงการยอมรับว่าตัวเองขาดพร่อง และขัดแย้งในตัวเอง
Slavoj Žižek

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ฝ่ายซ้ายต้องพึงระวังก็คือ Supper Ego ของฝ่ายซ้ายเอง เพราะมันจะคอยกีดกันผู้อื่นออกเสียมากกว่าทำให้เกิดการรวมตัวแบบสากล อธิบายให้กระจ้างขึ้นคือ การกล่าวหาผู้ที่ต่อสู้ในขบวนการประชาธิปไตยว่า ‘ก้าวหน้าไม่พอ’ หรือ ‘ซ้ายไม่จริง’ กลายเป็นว่าการเป็นซ้ายต้องมีรูปแบบที่ถูกต้อง ตายตัว และมีอัตลักษณ์ชัดเจน หากมีผู้ใดผิดแปลกไปจากนี้ จะถูกผลักใสออกไปจากขบวนการ   

ผลที่เกิดขึ้นทำให้การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อการปลดปล่อบแบบสากล กลายเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ที่ต่างกันเกินกว่าที่จะรวมตัวกันได้ อีกทั้งการบอกว่าแนวคิด หรือวิธีการต่อสู้ใดมีความจริงแท้ที่สุดเพื่อเบียดบังแนวทางอื่นๆ ออกไป ก็ไม่ได้ต่างไปจากการคิดแบบเอกเทวนิยม ที่ทำให้พระเจ้าที่ตัวเองนับถือมีความจริงแท้สูงสุด และพระเจ้าองค์อื่นล้วนเป็นของปลอมทั้งสิ้น

ที่มา

ชญาน์ทัต ศุภชาลาศัย. (2555). ฌ้าคส์ ลาก็อง : 10 มโนทัศน์ในพรมแดนชีวิต. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์.

สรวิศ ชัยนาม. (2565). อยากรู้แต่ไม่อยากถาม: ทุกสิ่งอย่างเรื่องการเมื่องโลกกับ Lacan. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์.

Sigmund Freud. Beyond the Pleasure Principle. New York: W.W. Norton and Company.


AUTHOR

Seedling Avatar

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *