ก่อนเข้าเนื้อหาของงานเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียนขอเกริ่นก่อนว่าตนจะไม่ได้ตีแผ่ความหมายของ ‘อุดมการณ์’ ว่ามีนักคิดท่านใดอธิบายคำนี้ไว้อย่างไรบ้าง แต่มุ่งเน้นการอธิบายผ่านกรอบของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจเมื่อได้ยินคำเหล่านี้จากนักทฤษฎีที่ใช้แนวทางของจิตวิเคราะห์ในการพูดถึง ของคำว่า อุดมการณ์ แฟนตาซี และเอนจอยเมนท์ไม่มากก็น้อย
1. อุดมการณ์ (ideology)
ในความเข้าใจทั่วไป อุดมการณ์ถูกจัดให้อยู่ในเรื่องของความรู้ และอำนาจเป็นหลัก อุดมการณ์จึงถูกให้มองว่าเป็นสิ่งที่หลอกลวงและเลื่อนลอยด้วยซ้ำไป การมีอุดการณ์ที่ผิดพลาดจึงเท่ากับการมีความรู้ที่ผิดพลาด เช่นเดียวกับที่ Karl Marx มองว่าอุดมการณ์แบบเสรีนิยมเป็นเรื่องของการมีความรู้ที่ผิดพลาด การถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์จึงสามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างความรู้ชุดใหม่เพื่อต่อสู้กับอำนาจของความรู้ที่มีอยู่แต่เดิม กล่าวอีกอย่างคือการแก้ไขสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตสำนึกที่ผิดพลาด (false consciousness)’ แต่การนำทฤษฎีจิตวิเคราะห์เข้ามาศึกษาเรื่องของ ‘อุดมการณ์’ ช่วยให้เราสามารถเห็นการทำงานของมันได้ในระดับที่ไม่ใช่แค่เรื่องของความรู้และอำนาจ แต่ลึกลงไปถึงระดับของจิต หากกล่าวในทางปรัชญา การทำความเข้าใจ ‘อุดการณ์’ ไม่ใช่แค่ในระดับของญาณวิทยา (epistemology) แต่ต้องเข้าใจในระดับของภววิทยา (ontology)
Slavoj Zizek ชี้ให้เราเห็นว่าในปัจจุบัน ซึ่งเป็น ‘ยุคหลังอุดมการณ์ (post-ideology)’ หรือช่วงเวลาที่คนไม่เชื่อในเรื่องของอุดมการณ์ต่อไปอีกแล้วนั้น กลับเป็นยุคที่อุดมการณ์ทำงานได้ดีขึ้นด้วยไปซ้ำ เพราะคนเรารู้ดีว่าตนเองนั้นกำลังกระทำสิ่งใดอยู่ และยังเลือกทำต่อไป ตัวอย่างที่ Zizek ให้มาคือ เรารู้ดีว่าแนวคิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ภายใต้ระบบทุนนิยมเป็นการปกปิดการขูดรีดในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง แต่เราก็ยังคงดำเนินตามแนวทางของเสรีภาพนั้นอยู่ดี เพราะ ‘อุดมการณ์’ ไม่ใช่ภาพลวงตาที่เราสร้างขึ้นเพื่อหลีกหนีความเป็นจริงที่โหดร้ายในระดับพื้นฐาน (dimension) แต่คือการสร้างแฟนตาซี (fantasy-construction) เพื่อสนับสนุนความเป็นจริง (reality) ของเราเอง สิ่งนี่แหละคือภาพลวงตาของอุดมการณ์ที่ก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นมาเพื่อปกปิดแกนกลางแบบ The Real (kernel) ที่เป็นไปไม่ได้และไม่สามารถทนได้ หน้าที่ของอุดการณ์ไม่ได้มีไว้เพื่อพาเราหลบหนีออกจากความเป็นจริง แต่มันกำลังเสนอความเป็นจริงทางสังคมกับเรา เพื่อหลีกหนีจากแกนกลางแบบเรียล (real kernel) [หมายถึงความเจ็บปวดบางอย่าง] เช่น ความเหลื่อมล้ำ การมีชีวิตที่ไม่สามารถเลือกได้จริงๆ และการทำงานหนักขนาดไหนก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น
ฉะนั้น เราจึงเห็นได้ว่าอุดมการณ์กับความเป็นจริงคือสิ่งเดียวกัน และ ‘แฟนตาซี’ ก็ทำงานอยู่ในระดับเดียวความเป็นจริง โดยการหล่อเลี้ยงความเป็นจริง คอยบอกกับเราว่า ถึงแม้ชีวิตจะบัดซบแค่ไหน ถ้าเราพยายามมากพอ เราจะสามารถประสบความสำเร็จ และเป็นผู้ชนะเหมือนพวก 1% ได้
2. แฟนตาซี (fantasy)
ดังที่กล่าวไปในตอนต้น ‘แฟนตาซี’ เป็นสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงความเป็นจริง ซึ่งมันทำงานสัมพันธ์กับซับเจคในแบบจิตวิเคราะห์ (subject of desire) ที่มีความขาดพร่องไม่สามารถเติมเต็มได้เป็นทุนเดิม การมีแฟนตาซีจึงเป็นความพยายามในระดับจิตไร้สำนึกของซับเจคต้องการจะเติมเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้น หรือเป็นการใช้แฟนตาซีเพื่อรักษาความเจ็บปวดทางอารมณ์จากการสูญเสียที่ผิดพลาดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ (object a) ในระดับปัจเจก ทั้งนี้ Lacan ได้เปรียบเปรยแฟนตาซีกับภาพยนตร์ (cinema screen) ที่ถูกกดหยุดให้แน่นิ่ง และข้ามไปอีกฉากเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ชมได้เผชิญหน้ากับฉากน่าสยดสยอง กล่าวอีกอย่างคือ แฟนตาซีกำลังปกปิดไม่ให้เราต้องเผชิญหน้ากับแกนกลางแบบเรียล (real kernel) ซึ่งเป็นแฟนตาซีในระดับสังคมที่มีความเป็นวัตถุวิสัย
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคืออุดมการณ์ทุนนิยมรักษ์โลก ที่พยายามให้ภาพความจริงกับเราว่าทุนนิยมสามารถนำเราพ้นไปจากสภาวะโลกร้อนและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดอย่างการใช้รถไฟฟ้า EV ได้ แต่ทั้งนี้มีความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งที่ไม่ได้ถูกพูดถึง นั่นคือการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ EV จำเป็นต้องถลุงแร่ธาตุจากพื้นดินในประเทศโลกที่สามอย่างมหาศาล แน่นอน มันส่งกระทบต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่นั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ และด้านลบของความจริงที่กล่าวมาข้างต้น ก็ได้ถูกแฟนตาซีของอุดมการณ์ทุนรักษ์โลกเข้ามาปกปิด ด้วยการบอกเราว่า หากคุณเปลี่ยนมาใช้รถ EV คุณจะเป็นคนปรารถนาดีต่อโลกและธรรมชาติ เพื่อให้ตนไม่ต้องรู้สึกผิดว่ากำลังเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายโลกอยู่
3. เอนจอยเมนท์ (enjoyment)
McGowan กล่าวว่า ‘เอนจอยเมนท์’ เป็นคนละสิ่งกับความพึงพอใจ เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่เหนือไปกว่าหลักการของความพึงพอใจ และมีลักษณะที่ล้นเกินไม่สามารถพึงพอใจได้ กล่าวคือ เอนจอยเมนท์ไม่ได้เป็นเพียงความพึงพอใจ (pleasure) หรือความต้องการเฉพาะ แต่มันคือความล้นเกิน (excess) ที่เกิดจากความปรารถนาอันไม่สิ้นสุดที่ไม่ได้รับการตอบสนอง และเมื่อความปรารถนาล้นเกิน ความพึงพอใจจึงไม่น่าพอใจอีกต่อไป หรืออีกนัยหนึ่ง ความปรารถนาของเราไม่เคยได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อใดที่เรารู้สึกพึงพอใจ เราจะไม่รู้สึกปรารถนา ฉะนั้น ความปรารถนาจึงทำให้รู้สึกถึง ‘เอนจอยเมนท์’ ที่กลับหัวกลับหางกับความพึงพอใจ และการขาดความพึงพอใจ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดแรงขับที่ความปรารถนาของเราแสวงหาเป้าหมายใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ อีกแง่มุมหนึ่ง เอนจอยเมนท์ก็สัมพันธ์กับความเจ็บปวด
ผู้เขียนขอยกคำพูดของ Badiou ที่เกี่ยวกับความรักมาขยายภาพส่วนนี้ เขากล่าวว่า “ถึงแม้ความรักจะเต็มไปด้วยเรื่องดราม่า ความเป็นปวด และการสูญเสีย แต่เขาก็ไม่เคยคิดจะทิ้งการมีความรักไปเลย ซึ่ง McGowan ได้จัดวาง เอนจอยเมนท์ลักษณะนี้ไว้ด้านเดียวกับความขาดพร่อง เพราะความรักนั้นไม่ใช่การเติมเต็มขึ้นกันและกัน แต่เป็นการแบ่งปันความขาดพร่องให้กัน ความรักที่สัญญาว่าจะเติมเต็มเราจึงไม่ใช่ความรัก แต่เป็น ‘โรแมนส์’ ฉะนั้น การสูญเสียหรือการไม่สมหวังในความรักจึงสัมพันธ์กับวัตถุแห่งความปรารถนาที่มีความสูญเสียเป็นส่วนหนึ่งอยู่แล้ว การที่ Badiou บอกว่าเขาไม่เคยคิดจะทิ้งรักไป จึงแสดงถึงการเอนจอยกับความเจ็บปวดของความรัก (Painful love is enjoyment) และยอมรับทั้งความขาดพร่องที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
NO SUBJECT an encylopedia of Lacanian psychoanalysis
ชญาน์ทัต ศุภชาลาศัย. (2555). ฌ้าคส์ ลาก็อง : 10 มโนทัศน์ในพรมแดนชีวิต. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์.
Slavoj Žižek. (2008). The sublime Object of Ideology. London : Verso.
สรวิศ ชัยนาม. (2567). เพราะเราต่างขาดพร่อง : การเมืองเรื่องเอนจอยเมนต์. กรุงเทพฯ : B&BTodd McGowan. (2022). Enjoyment Right & Left. USA : Sublation Media
Todd McGowan. (2022). Enjoyment Right & Left. USA : Sublation Media