ทำไมฝ่ายซ้ายถึงควรฝึกจิต?

‘ฝ่ายซ้าย’ กับ ‘การฝึกจิต’ ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่น่าไปด้วยกันได้ เนื่องจาก ‘การฝึกจิต’ ถูกมองว่าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวโยงกับศาสนา สภาวะเหนือโลก (transcendence) และความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ ในขณะที่การเป็นฝ่ายซ้าย คือการมองโลกอย่างเป็นวัตถุวิสัยและเป็นวิทยาศาสตร์ การฝึกจิตอย่างการภาวนาจึงถูกฝ่ายซ้ายบางส่วนโจมตีว่าเป็น ​“ความพยายามในการหนีจากโลกภายนอกที่โหดร้ายไปซ่อนในโลกภายใน (escapism)” 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนกลับมองว่า จริงๆ แล้ว ‘การฝึกจิต’ เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้กับการเป็นฝ่ายซ้าย และในเงื่อนไขทางวัตถุนิยม และ เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของพวกเราในยุคปัจจุบัน ที่สภาพการทำงานและการใช้ชีวิตจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ จนสมาธิและการจดจ่อของผู้คนสั้นลงทีละน้อย การฝึกจิตก็อาจเป็นสิ่ง ‘จำเป็น’ สำหรับฝ่ายซ้ายด้วยซ้ำ

การฝึกจิต: เครื่องมือต่อสู้ปัจเจกนิยม

‘การฝึกจิต’ ในบทความนี้ หมายถึง การฝึกฝนด้วยวิธีใดก็ตาม เพื่อให้ ‘จิต’ ทำงานได้ตามที่เราต้องการ เช่น เมื่อเราต้องการตั้งสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมใด เราก็สามารถจดจ่อกับกิจกรรมนั้นได้โดยที่ไม่มีความคิดอื่นเข้ามาแทรกให้ไขว้เขว หรือในสภาวะที่เราเผชิญกับความกลัว เราก็สามารถจดจ่อกับความกล้าหาญเพื่อเอาชนะความกลัว และบรรลุภารกิจที่ตั้งไว้ได้ในที่สุด 

เช่นเดียวกับการที่มนุษย์ใช้ความตั้งใจและการฝึกฝนจนสามารถควบคุมร่างกายให้วิ่ง ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน เราก็สามารถใช้ ‘การฝึกจิต’ ในการฝึกฝนจิตใจของเราให้แข็งแรงเช่นกัน 

ในทางกลับกัน การที่เราควบคุมได้แค่ร่างกาย แต่กลับเลือกที่จะไม่ควบคุมจิตใจและอารมณ์ เนื่องจากคิดว่าจิตใจเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ จึงปล่อยและตามใจตนเองอย่างเดียว ในแง่หนึ่ง มุมมองเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรจากการเชื่อโชคชะตาฟ้าลิขิต ที่ปล่อยความเป็นไปของตนให้ขึ้นอยู่กับน้ำมือของคนอื่นหรือสิ่งอื่น ความหมายของการฝึกจิตในบทความนี้จึงมีความเป็น ‘วิทยาศาสตร์’ มากกว่าความเป็น ‘ศาสนา’

และหากเราพิจารณาชุดความคิดดังกล่าวจากมุมมองของฝ่ายซ้าย เมื่อมองผลกระทบต่อการจัดองค์กร เราจะพบว่า การที่เรา ‘ตามใจ’ จิตใจตนเอง อาจนำไปสู่การครอบงำของการกระทำแบบ ‘ปัจเจกนิยม (Individualism)’ หรือ ‘อัตตานิยม (Egoism)’ ที่สหายไม่สามารถควบคุม (จิตใจ) ตัวเองได้ จนละทิ้งเหตุผล และพยายามเรียกร้องให้คนอื่น ๆ ทำตามใจตน (เพราะไม่รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง) ในอีกทางหนึ่ง พวกเขาอาจไม่สามารถควบคุมตนเองให้ทำตามมติอันเป็นเอกฉันท์  ซึ่งไม่ว่าการกระทำเหล่านั้นจะออกมาในรูปแบบใด ก็ทำลายประชาธิปไตยในกลุ่มได้ทั้งสิ้น

การชี้ให้เห็นโทษของการขาดความสามารถในการควบคุมจิตใจนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการเยาะเย้ยซ้ำเติมคนที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จริงๆ แล้ว เราในฐานะสหายร่วมอุดมการณ์ ควรช่วยกันรักษาอาการขาดการควบคุมตัวเองเหล่านี้ เพื่อให้สหายของพวกเราเป็นอิสระจากโซ่ตรวนแห่งความฟุ้งซ่าน - ความวุ่นวายภายในจิตใจ และตัดสินใจกระทำการในสิ่งที่พวกเขาตั้งใจไว้อย่างแท้จริง

บาดแผลของการฝึกจิต และเส้นทางสู่อิสรภาพ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คำว่า ‘การฝึกจิต’ หรือ ‘ควบคุมจิตใจ’ นั้นเป็นของแสลงต่อฝ่ายซ้าย คาดว่าเป็นเพราะการถูกปลูกฝังมากับวิธีฝึกจิตแบบไทยๆ อย่างที่เราเคยเจอในการเข้าค่ายพุทธธรรมสมัยเรียนมัธยม ที่นักเรียนจะถูกบังคับให้เดินจงกรมเป็นเวลานาน นั่งสมาธิกดข่มความง่วงและความหิว ทุกๆ อย่างเป็นไปด้วยการบังคับ 

จากประสบการณ์ค่ายธรรมะของโรงเรียนผู้เขียน มีอยู่วันหนึ่ง ขณะกำลังเดินจงกรม จู่ๆ ก็มีนักเรียน 2-3 คนเป็นลมล้มทั้งยืน เนื่องจากพวกเราทุกคนต่างได้นอนแค่ 4-5 ชั่วโมงต่อคืน และต้องนั่งสมาธิสลับเดินจงกรมอย่างต่อเนื่องตลอดวัน พี่เลี้ยงค่ายช่วยกันหามผู้ประสบภัยจากพุทธไทยไปปฐมพยาบาลด้วยยาดม และแอมโมเนียวนไป 

ในความเห็นผู้เขียน พฤติการณ์บังคับปฏิบัติธรรม จริงๆ แล้ว มีประโยชน์เพียงแค่อย่างเดียว คือประโยชน์ในการควบคุมประชาชนให้อยู่ใต้การปกครอง เพราะนี่ไม่ใช่การเข้ามากำกับควบคุมแค่พื้นผิวภายนอกอย่างการบังคับทรงผมนักเรียน หรือ ชุดนักเรียน แต่เป็นการบังคับในระดับจิตวิญญาน ว่าจะต้องไม่วอกแวก ง่วงนอน หิว ฯลฯ ขณะกำลังปฏิบัติสิ่งที่อำนาจสั่ง (โรงเรียน วัด ครู) 

หากเรามองเรื่องนี้อย่างผิวเผินแล้ว ก็ดูเหมือนว่าการเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจ(รัฐและระบบทุนนิยม) คือ การทำในสิ่งตรงกันข้าม หรือการ ‘ปล่อยไหลตามใจตนเอง’ (หรือ อยากทำอะไรก็ทำ) และเรียกการกระทำเหล่านั้นว่า ‘เสรีภาพ-อิสรภาพ’ แต่ผู้เขียนขอเสนอว่าเราไม่ควรมองว่าการ “ขาดความสามารถในการควบคุมสิ่งใดๆ” นั้น คือ ‘เสรีภาพ-อิสรภาพ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการขาดการควบคุมนั้นๆ บั่นทอนอำนาจและศักยภาพของเราเอง

เปรียบเหมือนถ้าหากเราเป็นประเทศที่อยู่ใต้อาณานิคม ที่กำลังถูกประเทศเจ้าอาณานิคมปกครองและกดขี่ สิ่งที่เราควรทำ คือ รวมตัวกันสร้างขบวนการปลดแอก เพื่อขับไล่เจ้าอาณานิคม และทวงคืน “อำนาจในการปกครองตนเอง” คืนมา ไม่ใช่การปล่อยตัวเองให้เพลิดเพลินมัวเมาไปกับสินค้า และ บริการของฝ่ายเจ้าอาณานิคม 

ดังนั้นอิสรภาพ และ เสรีภาพของเรานั้นจะมีมากเท่าที่ความชำนาญในการขับไล่เจ้าอาณานิคมเหล่านั้น และความชำนาญดังกล่าวก็ต้องมาจากการฝึกฝนยุทธวิธี ฝึกฝนอาวุธ ฝึกฝนด้านระเบียบวินัย ฯลฯ 

ในกรณีของยุคสมัยปัจจุบันการฝึกดังกล่าวก็ คือ การฝึกจิต เราไม่สามารถคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ โดยการทำตัวน่าสงสาร  เพราะชนชั้นปกครองก็ย่อมต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้อำนาจและผลประโยชน์ของตนเองยังคงอยู่ยั้งยืนยง

หรือพูดให้ชัดขึ้นกว่านั้น คือ เราไม่ได้มีปัญหากับการมีอำนาจ หากแต่มีปัญหาต่อเรื่อง “ใครใช้อำนาจ เพื่ออะไร” ถ้าหากเราต้องการปกครองตนเอง (มีอิสระเสรี) แต่แค่การควบคุมจิตใจตนเองให้ไปในทางที่ตนต้องการจริงๆ เรายังทำไม่ได้ ก็ยากที่เราจะสามารถต่อสู้แย่งชิงอำนาจอธิปไตยให้กลับคืนสู่มือประชาชนได้  

ถึงเวลาแล้วที่ฝ่ายซ้ายเราจะยืนหยัดปกป้องตนเอง ด้วยการทบทวนและชวนกันสร้างวิธีการฝึกจิต วิธีดูแลและพัฒนาตนเองในแบบฝ่ายซ้าย เพื่อที่เราจะเพิ่มอำนาจต่อรองอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อที่เราจะได้ดูแลสหายและแนวร่วมของพวกเรา ให้มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมสำหรับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้อย่างแข็งขัน

การฝึกจิต: เครื่องมือต่อสู้ทุนนิยมความรับรู้

อีกสาเหตุหนึ่งที่ฝ่ายซ้ายเราควรฝึกจิต คือปัจจุบันเราอาศัยอยู่ในระบบทุนนิยมความรับรู้ (Cognitive capitalism) ที่บรรดาสื่อ การตลาด และโฆษณาต่างๆ พยายามยึดจับความสนใจของเราไปเพิ่มมูลค่าส่วนเกินให้กับแพลตฟอร์มนั้นๆ (เช่น Youtube ที่จัดระบบอัลกอริธึมให้เราเห็นเนื้อหาที่เราชอบบ่อยๆ เพื่อดึงดูดให้เราอยู่บนแพลตฟอร์มนานขึ้น และมองเห็นโฆษณาที่มาลงใน Youtube มากขึ้น) เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่พยายามยึดจับพลังสร้างสรรค์ของเราไปแปรเป็นผลกำไร เช่น การเขียนโพสต์เฟซบุ๊กก็ต้องใช้พลังสร้างสรรค์ในการเขียน เป็นต้น 

เมื่อทั้งความสามารถในการจอจ่อ และพลังสร้างสรรค์ของเราถูกแพลตฟอร์มยึดจับจนหมดแล้ว เราย่อมไม่เหลือพลังใดๆ ในการต่อสู้หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เรารู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียตลอดเวลา แม้จะเป็นวันปิดเทอม หรือ วันหยุดนักขัตฤกษ์ก็ตาม นั่นเป็นเพราะพลังชีวิตของเราถูกรีดออกไปด้วยความสมัครใจ (ในการบริโภค) ของเราเองหมดแล้ว (หรือที่เรียกว่าการ Doom-Scrolling นั่นเอง)และแน่นอนว่าถูกขูดรีดจากการทำงานในระบบทุนนิยมอีกด้วย

ในส่วนของการฝึกควบคุมจิตใจ บทความนี้อาจไม่ได้ลงรายละเอียดในภาคปฏิบัติมากนัก เพราะอยากเน้นในระดับ ‘รับหลักการ’ ว่าทำไมฝ่ายซ้ายควรฝึกจิตก่อน และไม่ให้บทความยาวจนเกินไป 

ก่อนจบบทความ ผู้เขียนขออยากทิ้งท้ายไว้เพิ่มเติมว่า ‘การฝึกจิต’ นั้น คือการใช้วิธีการใดก็ได้ให้เรา เป็นอยู่ (Being) โดยไม่จำเป็นต้อง ‘บริโภค’ หรือพึ่งสิ่งเร้าภายนอกใดๆ เพื่อให้เราสามารถพักผ่อนและเก็บสะสมพลังงานไปใช้กับสิ่งที่เราต้องการจะใช้จริงๆ ในฐานะฝ่ายซ้าย เราจะได้มีเวลาในการคิด วิเคราะห์ ทบทวน และประยุกต์ทฤษฎีฝ่ายซ้ายที่เราศึกษามา จนตกผลึกเป็นวิถีปฏิบัติที่สอดคล้องกับบริบทยุคสมัยของเราได้อย่างแท้จริง การฝึกดังกล่าวไม่จำเป็นต้องกระทำด้วยความ ‘กด-ข่ม-ฝืน’ ในแบบการฝึกจิตเดิมๆ ที่เราเคยเรียนรู้มา 

หลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) นักปรัชญาคอมมิวนิสต์เคยกล่าวไว้ว่า “ปรัชญา คือ อาวุธของนักปฏิวัติ”

ผู้เขียนเองก็จะขอกล่าวเพิ่มเติมว่า “ความสามารถในการจดจ่อ ความสามารถในการนั่งนิ่งคิดทบทวน และการเป็นนายเหนือจิตของตนเอง คือ ทักษะในการใช้อาวุธ แห่งการปฏิวัติ” 

AUTHOR

Comrade Sink Avatar

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *