“บาปกำเนิด” (Original sin) หรือ ในบางแขนงของความเชื่อคริสตชน เรียกว่า “ปฐมบาป” เป็นความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีบาปติดตัวมาตั้งแต่เกิด (อันเป็นผลจากการที่มนุษย์คู่แรกของโลก อดัม-อีฟส์ ได้ “ก่อกบฏ” ต่อพระเจ้าด้วยการกินผลไม้ต้องห้าม) ความไม่สมบูรณ์แบบเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นแล้วมนุษย์เรามีหน้าที่ต้องใช้ชีวิตในการอยู่ในศีลธรรม มีหน้าที่ต้องตักเตือน, อยู่ห่าง หรือ แม้แต่กำจัดผู้คนที่ “ไม่มีศีลธรรม” ให้ออกไปจากเส้นทางอันบริสุทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์
ซึ่งตัวผมเองไม่ใช่คริสตชน แล้วก็ไม่ได้หมายว่าจะสอนพระคัมภีร์ในบทความนี้ แต่จะขอยกวลีนี้มาใช้ในการเปรียบเทียบให้เห็นถึงทัศนคติของชนชั้นกลางฝ่ายก้าวหน้าที่มีต่อตัวเอง กล่าวคือ เมื่อเราได้เกิด “ความตาสว่างทางการเมือง” ขึ้นมา โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากการมีอุดมการณ์แบบ “รัฐไทย” (หรือ เรียกกว้าง ๆ ว่า อนุรักษ์นิยม/สลิ่ม) ไปสู่การมีอุดมการณ์แบบรัฐอเมริกัน (เรียกกว้าง ๆ ว่า เสรีนิยม) แล้วเริ่มมองเห็นว่าระบบทางเศรษฐกิจสังคมของไทยเรานั้น วางอยู่บนการกดขี่ขูดรีดคนจน เพื่อเอาทรัพยากรไปปรนเปรอให้กับคนรวย ซึ่งในสำหรับผู้ที่เป็นชนชั้นกลางแล้ว ก็จะเริ่มตระหนักขึ้นมาว่า ตัวเองก็เป็นส่วนนึงของระบบที่กดขี่ดังกล่าว และ ทั้งได้รับประโยชน์รวมไปถึงผลเสียไปในขณะเดียวกัน
เมื่อตระหนักได้ดังนี้แล้ว เราจะเห็นได้จะในโลกออนไลน์ว่าประเด็นของความ “พรีวิลเลจ” (privilege) เป็นหัวข้อที่มักมีการพูดถึงโดยชนชั้นกลางอยู่บ่อยๆ เช่น รู้มั้ยว่าการที่บ้านมีแอร์เป็นพรีวิลเลจ สงสารคนจนบ้างมั้ย,การมีไอโฟนเป็นพรีวิลเลจ, การมีห้องครัวที่บ้านและทำอาหารกินเองได้เป็นพรีวิลเลจ, การมีเงินไปฟิตเนสเป็นพรีวิลเลจ ฯลฯ
ปฏิกริยาโต้ตอบต่อบาปกำเนิด หรือ ในที่นี้คือพรีวิลเลจก็มีได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเมินเฉย การพยายามปฏิเสธ การพยายามตีความว่าสังคมที่มีการขูดรีดกันอย่างหนักหน่วงในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” เหมือนปลาใหญ่กินปลาเล็ก หรืออย่างสุดท้าย คือ การพยายาม ”ไถ่บาป” ความเป็นชนชั้นกลางของตัวเอง ด้วยการออกตัวปกป้องพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่เป็นทั้งอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมใหม่บางพรรค โดยเป็นการปกป้องอย่างเลยเถิด ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็รู้ว่าสถาบันกษัตริย์ คือ ปัญหารากฐานของสังคมไทย และ ก็ออกตัววิพากษ์สถาบันฯมาโดยตลอด แต่พอเมื่อ “พรรค” มีทีท่าจะไม่ผลักดันเรื่องนี้ก็กลายเป็นว่า กลุ่มคนดังกล่าวก็ไปอาละวาดโจมตีซ้ำเติมนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยที่ออกมาต่อสู้ในประเด็นสถาบันกษัตริย์ (ในประเด็นของการกระทำแบบเสรีนิยมใหม่ของพรรคก็เช่นกัน) นอกจากนี้ยังมักมีแนวโน้มยกให้พรรคและบุคคลสำคัญของพรรคเป็น “บุคคลอันล่วงละเมิดมิได้” กลายเป็นว่าการตั้งคำถามเและการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่ความสำคัญเชิงหลักการ แต่เป็นแค่ข้ออ้างที่ว่าไว้ใช้กับ พรรค/บุคคล ที่ตัวเองไม่ชอบเท่านั้น
ซึ่งการออกตัวสนับสนุนพรรคการเมืองในเชิงยุทธิวิธี, ยุทธศาสตร์ เฉพาะกาลผมว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่การทำตัวเป็น “นางแบก” และละทิ้งหลักการ,ความถูกต้อง,เหตุผล ของตัวเองลงและเปลี่ยนทิศทางทางการเมืองจากหน้ามือเป็นหลังมือนี้ ผมคิดว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าสนใจ และ น่าทำความเข้าใจอย่างมาก
ข้อเสนอของผม คือ สิ่งนี้น่าจะเป็นปฏิกริยาอันมีแรงผลักดันจาก “บาปกำเนิดชนชั้นกลาง” ดังนั้น พวกเขาจึงต้องการจะ “แสดงตน” ว่าเป็นฝ่ายเดียวกับชนชั้นล่าง, ชนชั้นกรรมาชีพ แต่ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็คือ
1. พรรคการเมือง ไม่เท่ากับ มวลชนที่เลือกพรรคการเมืองนั้น การที่เรามี Empathyต่อ ประชาชนกลุ่มไหนไม่ได้จำเป็นว่าเราต้องเห็นด้วยกับทัศนคติทางการเมืองของคนกลุ่มนั้น ตัวอย่าง เช่น ผมมี Empathy ต่อพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้หมายความว่าผมต้องเห็นด้วยกับหลักการของศาสนาอิสลาม หรือ วิธีที่พวกเขาใช้
2. หลายครั้งพรรคการเมืองก็เป็นอิสระจากการควบคุมของมวลชน หมายความว่าหลายครั้งการตัดสินใจ, ทัศนคติ และ นโยบายของพรรคการเมืองก็ไม่ได้มาจากการตัดสินใจหรือเสนอแบบ “ล่างขึ้นบน” หากแต่เป็นแบบ “Top-down” ซึ่งฝั่งมวลชนผู้สนับสนุนเองถ้าไม่ได้มีตำแหน่งในพรรคก็ไม่ได้มีอำนาจในการเสนอ แก้ไข ต่อรอง อาจจะมีคนแย้งขึ้นมาว่า “ถ้าคนไม่ชอบก็จะไม่เลือกไปเอง” แต่นั่นเป็นคนละประเด็นกัน ประเด็นที่ผมจะสื่อก็ คือ การปฏิบัติต่อพรรคการเมืองราวกับว่ามีความ “เท่าเทียม” กับ มวลชนแห่งพรรค หรือ การเหมารวมว่าทั้งพรรคและผู้เลือกเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นการสำคัญผิดว่า “สัญญะ” นั้นเท่าเทียมกับ “ความจริง/ของจริง” สำคัญว่า “ตัวแทน” นั้นเป็นสิ่งทัดเทียมกับ “ตัวจริง”
3. ต่อให้เป็นพรรคที่มีประชาชนสนับสนุนเยอะ ก็ไม่ได้แปลว่าจะตัดสินใจผิดพลาดไม่ได้
4. การวิจารณ์การตัดสินใจของมวลชนเป็นสิ่งที่กระทำได้ และจำเป็นต้องทำ ไม่ต่างจากการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันที่ทรงอำนาจอื่น ๆ เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ของชาวยิวที่นับถือศาสนาคริสต์ ต้องทำตัวให้เป็น “คริสเตียนยิ่งกว่าคริสเตียน” เช่นเดียวกับที่ ม้า อรนภา, ครูลิลลี่, เสรี วงษ์มณฑา จะต้องทำตัวให้เป็น “อนุรักษ์นิยมยิ่งกว่าอนุรักษ์นิยม”
หลายครั้งแรงผลักดันของการแสวงหาการยอมรับนั้นมากจนบดบังหลักการ และ เหตุผลที่ควรจะเป็น เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกันกับการมีบาปกำเนิดเกิดในชนชั้นกลาง .. สิ่งสำคัญที่อยากจะชี้ คือ เราต้องแสวงหาการยอมรับอย่างเลยเถิดก็เพราะเรามองไม่เห็นความสำคัญของตำแหน่งแห่งที่ตัวเอง เมื่อเราปฏิเสธตัวเองอย่างหมดจด เราจึงต้องถูกผลักให้แสวงหาการยอมรับจนลืมหลักการ
ในกรณีการเป็นชนชั้นกลาง จริงอยู่ที่มันแย่ที่เรามีพรีวิลเลจ เรามีข้อได้เปรียบทางสังคมอันมาจากการขูดรีดคนอื่น แต่แทนที่เราจะปฏิเสธตัวเองอย่างหมดจดว่าเราไม่มีอะไรที่ใช้การได้เลย เราควรมาดูว่าแล้ว “ความได้เปรียบ” ที่เราได้มานั้นทำให้เรามีภารกิจที่จำเพาะอย่างไรในสนามการต่อสู้ทางชนชั้นนี้ได้บ้าง เช่น เราเป็นชนชั้นกลาง แน่นอนว่าเราย่อมมีโอกาสสูงกว่าชนชั้นกรรมาชีพอยู่แล้วที่จะเข้าถึงการศึกษา หรือ ได้รู้จักโลกกว้าง มีเวลาได้ครุ่นคิดทบทวนถึงหลักการ และ เหตุผล เราก็สามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปให้กับชนชั้นกรรมาชีพ ในรูปแบบของการทำงานจัดตั้ง, ทำกลุ่มศึกษา, สร้างความตระหนักรู้, จัดการอบรม, ทำสื่อ ฯลฯ
เช่นเดียวกัน ทางฝั่งชนชั้นกรรมาชีพเองก็ทำหลายสิ่งที่พวกเราเองก็ไม่ได้มีความถนัด หรือ โอกาสที่จะทำขนาดนั้น เช่น กรณีม๊อบดินแดง, การนัดหยุดงานในโรงงานต่างๆ,การทำงานภาคสนามลงพื้นที่ในบางกรณี และ ที่สำคัญด้วยชนชั้นของเขา เขาย่อมมีใจต่อการทุ่มเทเพื่อการปฏิวัติมากกว่าเราด้วยประสบการณ์การถูกขูดรีดโดยตรงของเขาเอง ซึ่งจุดนี้ก็เป็นจุดอ่อนของชนชั้นกลาง ที่เราควรเรียนรู้จากพวกเขา
และที่สำคัญ คือ การปฏิบัติกับชนชั้นกรรมาชีพ ”อย่างเท่าเทียม” หมายความว่าเราก็ต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่พวกเขาเข้าใจผิด แน่นอนว่าเราเองก็ต้องฟังคำวิจารณ์ของเขา และ มาพิจารณาเช่นกัน ด้วยวิธีนี้ Solidarity (ความสามัคคี) ของฝั่ง 99% ย่อมบังเกิด การปฏิบัติต่อพวกเขาราวกับเป็น “เด็กไร้เดียงสา” ที่เราจะแตะต้องไม่ได้ เราต้องตามใจ เราต้องเห็นด้วยทุกการตัดสินใจของเขา เป็นการเหยียดชนชั้นในอีกรูปแบบนึง นอกจากนั้นยังเป็นการ “เสีย” ข้อได้เปรียบที่พวกเราพึงมีไว้ใช้ในการสนับสนุนการต่อสู้ การปฏิวัติไปอย่างน่าเสียดาย
อย่าลดทอนตัวเองให้เป็นเพียงแค่ “Active citizen ที่มีหน้าที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งตอนรัฐบาลสั่ง” เท่านั้น ในเมื่อพวกเราทำได้มากกว่านั้น ฟรีดริช เองเกลส์ (Friedrich Engels) เองก็หาใช่กรรมาชีพ แต่เป็นเจ้าของโรงงานขนาดใหญ่, เช กูวารา (Che Guevara) ก็มาจากตระกูลสูงและร่ำรวย “ปีเตอร์ โครพอร์ตกิน (Peter kropotkin)” นักอนาธิปไตยในตำนาน ก็เป็นถึงเจ้าชายจากราชวงศ์รัสเซีย แต่แทนที่พวกเขาจะลดทอนตัวเองเหลือเพียง “พลเมืองดีหย่อนบัตร” หรือ “เดินหลับตาตามหลังมวลชนเพื่อให้ได้รับการยอมรับ” พวกเขากลับเลือกที่จะค้นคว้า,นำเสนอ รวมไปถึงลงมือปฏิบัติ ในการมุ่งไปสู่สังคมที่จะเป็นประโยชน์ต่อชนชั้นกรรมาชีพ และ คนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง
ไม่มีพระผู้ไถ่คนไหนจะมาไถ่บาปกำเนิดนี้ให้ท่านได้ แต่ถ้าท่านได้หลอมรวมตัวเองลงไปในสายธารแห่งการปฏิวัติแล้ว บาปใดเล่า จะสามารถติดตัวท่าน