บทความนี้ปรับปรุงจากบทความ The Empty Empathy เธอเห็นใจผู้อื่นอย่างไร ถ้าไม่มีคำว่าเรา ที่เขียนขึ้นในปี 2022
Empathy หรือ ความเห็นอกเห็นใจ เป็นคำที่ผู้เขียนเห็นตั้งแต่เริ่มใช้โลกโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะมีความรุนแรงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ Empathy มักถูกยกขึ้นมากล่าวถึงในข้อถกเถียงเสมอ
บทความนี้ ผู้เขียนขอเล่าถึงบทบาทของ Empathy ที่มีต่อผู้คนที่มีปฏิสัมพันธ์กันในโลกออนไลน์ ผ่านการทบทวนความคิดของ Byung Chul Han ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับเสรีนิยมใหม่ และทุนนิยมการสื่อสาร (Cognitive Capitalism)
ก่อนเข้าสู่เนื้อหา ผู้เขียนจำเป็นต้องเกริ่นว่า บทความนี้จำเป็นต้องใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษเพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ส่วนตีความคำว่า Sympathy Empathy และ Compassion ผู้เขียนมองคำ 3 คำในฐานะอารมณ์และความรู้สึกที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่คนในยุคๆ หนึ่งรู้สึก หรือมองว่าควรรู้สึกร่วมกัน ผู้เขียนมิได้มอง Empathy ในเชิงจริยธรรม หรือตัดสินว่าความรู้สึกใดถูก/ผิด แต่มองในเชิงความสัมพันธ์ทางสังคมแบบไหนที่ทำให้เกิดอารมณ์เหล่านี้
ชุมชน
หนังสือ The Disappearance Of Rituals (2020) ของ Byung Chul Han เสนอว่า ชุมชนสมัยก่อนเป็นชุมชนที่รับรู้ถึงการมีอยู่ของกันและกันโดยไม่ต้องสื่อสารกันมาก (Community without Communication) ผู้คนในรับรู้ถึงการมีอยู่ของกันและกันโดยไม่ต้องสื่อสารกันมาก
ในอดีต ผู้คนในชุมชนจะเชื่อมโยงกันผ่านสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคนรอบข้าง สิ่งของ สภาพแวดล้อม หรือความเชื่อบางอย่างผ่านพิธีกรรมพิธีกรรมจึงมาพร้อมกับความรู้สึกที่คนในชุมชนรับรู้ร่วมกัน และรับรู้ถึงกันและกัน เช่นในงานสังสรรค์ ผู้คนจะสนุกไปด้วยกัน หรืองานโศกเศร้า ผู้คนจะโศกเศร้าไปด้วยกัน
แต่ในปัจจุบันที่โลกขับเคลื่อนด้วยระบบเสรีนิยมใหม่ และเชื่อมต่อกันด้วยแพล็ตฟอร์มออนไลน์ การสื่อสารแต่ไร้ซึ่งความเป็นสังคม (Communication without Community) ในสภาพแวดล้อมของทุนนิยมการสื่อสารกลับพรากความเป็นชุมชนไปจากเรา และแลกมาด้วยความโดดเดี่ยว มันพรากพิธีกรรมและการรับรู้ความรู้สึกร่วมกับคนอื่น และแทนที่มันด้วยการรับรู้เพียงแต่ตัวเอง และอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นของข้อมูลเท่านั้น
อารมณ์
ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนและสังคมส่งผลต่ออารมณ์ของผู้คนที่มีต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ในหนังสือ Psychopolitics (2017) Han เสนอว่า อารมณ์ (Emotion) เป็นสภาวะทางจิตใจที่มีลักษณะแตกต่างจากสภาวะอื่นๆ โดยทั้งนี้ มันแตกต่างจากความรู้สึก และเหตุผล
อารมณ์ (Emotion) แตกต่างจากความรู้สึก (Feeling) และ บรรยากาศ (Mood) ความรู้สึกและบรรยากาศยึดโยงกับสถานที่ เช่นสิ่งรอบตัว ผู้คน เหตุการณ์ ยึดโยงกับเวลา เช่นเรื่องราวที่รับรู้ การตกผลึก ทั้งสองสภาวะเกิดขึ้นภายใน ไม่จำเป็นต้องแสดงออกมาภายนอก และเป็นสภาวะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นตามเวลา ขณะที่อารมณ์เกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็ว มันไม่ต้องการปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่และเวลา และมักทำให้เราแสดงออกเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่างในจิตใจ
อารมณ์มีลักษณะที่แตกต่างกับความเป็นเหตุเป็นผล (Rationality) ขณะที่ความเป็นเหตุเป็นผลมาพร้อมกับความมั่นคงในหลักการ (และจิตใจ) และการใช้เวลาในการครุ่นคิดและฝึกฝน อารมณ์กลับเป็นสิ่งที่หุนหันพลันแล่น ทันทีทันใด และเป็นอิสระจากแบบแผนหรือหลักการมากกว่า
เพราะคุณสมบัติอันโดดเด่นของมันที่เข้ากับทุนนิยมการสื่อสารได้ดี และแตกต่างจากสภาวะทางจิตใจประเภทอื่นๆ อารมณ์ (Emotion) จึงกลายเป็นตรรกะใหม่ของทุนนิยมการสื่อสาร การที่อารมณ์กลายมาเป็นปัจจัยในการผลิต (Mode of Production)
Sympathy vs Empathy
ผู้เขียนได้ยินข้อถกเถียงระหว่าง Sympathy และ Empathy ในช่วงปี 2016-2017 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเติบโตของการรณรงค์ด้านการเมืองและสังคมของเสรีนิยมในโซเชียลมีเดีย บวกกับการตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า Sympathy และ Empathy กลายมาเป็นแว่นทางอารมณ์ (และศีลธรรม) ว่าเราควรมองปัญหาเหล่านี้อย่างไรบ้าง
Sympathy และ Empathy ไม่ได้เพียงให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน แต่ยังสะท้อนมุมมองต่อปัญหาที่ต่างกันด้วย Sympathy คืออารมณ์ของความเห็นใจ สงสาร โดยเฉพาะกับคนที่ตกทุกได้ยาก อารมณ์ Sympathy คือแว่นอารมณ์ที่มองเห็นความทุกข์ของคนอื่นในมุมมองของตัวเอง ตัดขาดความรู้สึกคนอื่น มันสะท้อนว่าผู้นั้นมองว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่ดีกว่าคนอื่น และอาจช่วยในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ
ในทางตรงกันข้าม Empathy คืออารมณ์ของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผู้มี Empathy จะคิดถึงความทุกข์ของเขาแบบที่มองจากมุมของเขา เข้าใจความรู้สึก หรือรู้สึกเช่นเดียวกับเขา นำไปสู่การฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน และไม่ให้คำแนะนำหรือหาทางออก ผู้สวมแว่น Empathy มีแนวโน้มจะ ‘เชื่อ’ว่าเรากับเขาเท่ากัน หรือเหมือนกัน หลายคนจึงมองว่าผู้ที่มี Empathy คือผู้ที่ ‘มีหัวใจ’ หรือจิตใจดีงาม
แม้การถกเถียงส่วนใหญ่จะโต้แย้งกันว่าอารมณ์แบบไหนดีกว่ากัน แต่หากวิเคราะห์อารมณ์ทั้ง 2 โดยยึดโยงจากบริบททางสังคมและเศรษฐกิจ มันมีฐานจากโลกแห่งการสื่อสารแต่ไร้ซึ่งความเป็นสังคม (Communication without Community) ทั้งสิ้น
อารมณ์ Sympathy เกิดมาจากสังคมที่แต่ละคนถูกแบ่งแยกด้วยชนชั้น สถานะทางสังคม หรือด้วยประสบการณ์ มันทำให้คนรักษาสถานะ (status qou) ของตนเอง และยากที่จะเชื่อมโยงกับอื่นโดยปราศจากสถานะของตนทิ้งไป มันจึงนำไปสู่การมองคนอื่นด้วยสายตาสงสาร หรือมองจากบนลงล่าง
ส่วนอารมณ์ Empathy เกิดจากสังคมที่ถูกทำให้เชื่อว่าทุกคนเท่ากัน หรือเหมือนกัน (หรือปิดตาครึ่งหนึ่งกับความไม่เท่าเทียมในเงินเศรษฐกิจ สังคม เพศ ฯลฯ ที่ดำเนินอยู่) แต่สังคมนั้นก็ยังแยกแต่ละคนออกจากกัน ด้วยเวลา พื้นที่ หรือความรู้สึก เมื่อใครคนหนึ่งเผชิญปัญหา ผู้คนจึงหาทางที่จะเชื่อมโยงทางอารมณ์กับคนอื่น ซึ่งอาจมาพร้อมกับประสบการณ์ และความรู้สึกนึกคิดแบบ ‘สมมติ’ ที่ทำให้เขาเชื่อว่าเขาสามารถสวมรองเท้าผู้อื่น แม้จะไม่รู้จักกันก็ตาม
Empty Empathy
ความย้อนแย้งประการหนึ่งของเสรีนิยมใหม่ คือมันเรียกร้องให้พวกเราเห็นแก่ตัวและหลงตัวเอง ถีบหัวส่งคนข้างๆ พร้อมกับเรียกร้องร้องให้เรามี Empathy ในการตอบสนองกับข้อมูลที่สะเทือนอารมณ์ เราสามารถแสดง Empathy ผ่านการ “ทำอะไรซักอย่าง อย่างรวดเร็ว” เช่นการกดถูกใจ แสดงความคิดเห็น หรือเผยแพร่เพื่อแสดงจุดยืน
ในมุมมองของ Han แล้ว Empathy คืออารมณ์ที่เข้ากันได้ดีกับสังคมที่โดดเดี่ยว เนื่องด้วยเราไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกร่วมกับคนรอบข้างได้ เราจึงพยายามทำความเข้าใจอารมณ์ของคนอื่น และระบายอารมณ์ของเราเป็นข้อมูลโดยหวังว่าคนอื่นจะเข้าใจเรา
ในขณะเดียวกัน Empathy ก็กลายเป็นเครื่องมือในการสะสมทุนของทุนนิยมการสื่อสาร ในแง่ที่ว่ามันสามารถเหนี่ยวนำอารมณ์และชี้นำคนได้ และทำได้ดีกว่าการโน้มน้าวด้วยเหตุผลเสียอีก มุมมองดังกล่าวทำให้เราเห็นว่า นอกจากเราจะถูกขูดรีดแรงงานจนเกิดความรู้สึกด้านลบแล้ว มันยังขูดรีดเราผ่านความรู้สึกเชิงบวกอีกด้วย
แม้ผู้เข้าร่วมการดีเบตในโลกออนไลน์จะเชื่อว่าตนใช้เหตุผลเข้าสู้ หรือให้ความรู้กับอีกฝ่าย แต่ในการถกเถียงที่ดุเด็ดเผ็ดมันส่วนใหญ่มันก็แฝงไปด้วยอารมณ์ ดังนั้น แม้ว่าโลกตะวันตกจะเชื่อในการตัดอารมณ์ออกจากเหตุผล แต่ความจริง มันเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาด
Against Empathy
นอกจาก Byung Chul Han แล้ว นักจิตวิทยาการรู้คิดอย่าง Paul Bloom ก็เป็นอีกคนที่มองว่า การบูชา Empathy มีปัญหาในเชิงปฏิบัติ เหตุผลของเขาคือ นอกจากงานวิจัยหลายฉบับจะค้นพบว่า มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะ Empathy ต่อคนที่เหมือนเรา Empathy ยังอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารการเมือง ที่นำเสนอเหยื่อผู้น่าสงสาร เพื่อเป้าหมายในความรุนแรงที่ใหญ่กว่า ซึ่งผู้เขียนมองว่าคนเห็นใจความรุนแรงเชิงกายภาพได้มากกว่าความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์และเศรษฐกิจ ซึ่งการแสดงออกทางการเมืองด้วย Empathy อาจแฝงไปด้วยความกลัวที่จะตกกระแส หรือกลัวโดนตัดสินจากสายตาของคนอื่น
ในด้านการให้คำปรึกษา Bloom มองว่า แม้บางครั้งเราต้องการคนที่ร่วมรู้สึกไปกับเรา แต่หลายครั้งเราแค่ต้องการคนที่มั่นคง และช่วยเราหาทางออกให้ได้ เช่น หากนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาใช้ Empathy ในการรับมือคนไข้ เขาอาจจะหมดไฟ และไม่มี Empathy เหลือให้ตัวเอง
Rational Compassion
Paul Bloom เสนอทางออก คือ Rational Compassion ซึ่งประกอบจากคำว่า Rationality หรือการทำความเข้าใจปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผล และรอบด้าน มันนำไปสู่หาทางออกในการช่วยเหลือที่ดีที่สุด และยิ่งหลายคนช่วยกันหาทางออกร่วมกัน จะทำให้ทางออกนั้นดีสำหรับทุกฝ่าย
ส่วนที่สองคือ Compassion มันคือการใส่ใจคนอื่น (เกิดขึ้นไม่ได้หากไม่เชื่อมโยงกับคนอื่น หรือกับคนใกล้ชิด) ที่ต่างจาก Empathy เพราะเราไม่จำเป็นต้องเข้าใจ หรือมีความรู้สึกร่วมกับคนอื่นในทุก ๆ เรื่อง การมองจากมุมอีกฝั่งอาจทำให้เห็นปัญหาได้กว้าง รวมถึงมองทางออกที่ต่างออกไป
ผู้เขียนมองว่า Rational Compassion เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความเป็นชุมชน (Community) ซึ่งพวกเราไม่จำเป็นต้องกลับไปสู่ชุมชนก่อนสมัยใหม่ แต่อาจเป็นชุมชนที่ผู้คนสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นมา ด้วยการรวมกลุ่มกันในเชิงกายภาพผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ผู้คนควรตระหนักว่าคนอื่นกับเรามีสายสัมพันธ์ต่อกันและกัน (gratitude) และใช้เวลากับการทำความเข้าใจปัญหาสังคมต่าง ๆ ไม่ด่วนตัดสินจากสื่อ ข้อความ หรือความรุนแรงทางกายภาพ แต่ควรพิจารณาความรุนแรงทางเศรษฐกิจ และสัญลักษณ์ที่แฝงอยู่ด้วย
ที่มา
Bloom, Paul. 2016. Against Empathy: The Case for Rational Compassion. New York: Ecco.
Han, Byung Chul., 2020. The Disappearance of Rituals. Cambridge: Polity Press.
Han, Byung Chul., 2017. Psycho-Politics Neoliberalism and Technologies of Power. New York: Verso.
ณัฐวุฒิ เผ่าทวี, 2017. การเอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy) เเละความสงสาร (sympathy) เเตกต่างกันตรงไหน. ค้นหาเมื่อ 8 มีนาคม 2567
สรวิศ ชัยนาม, 2558. Slavoj Zizek ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย. กรุงเทพฯ: ศยามปัญญา.