กาลพลังงาน (บทวิเคราะห์สภาวะการดำรงอยู่ของกำลังแรงงาน)

กาลพลังงาน (Timenergy) คือแนวคิดสำคัญในการพลิกวิธีคิดและจัดระเบียบสังคมของมนุษย์ แนวคิดนี้จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหามากมายที่เรากำลังเผชิญในเชิงทฤษฎี และเปิดเผยอุปสรรคและกับดักของระบบทุนนิยมที่ต้องพึงระวังในการจัดระเบียบชีวิตในเชิงปฏิบัติ หากเราไม่เข้าใจประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของแนวคิดนี้ อาจส่งผลเสียต่อโครงการตั้งแต่เริ่มต้น

คำว่า ‘กาลพลังงาน’ ไม่ใช่เพียงแค่การประกอบคำว่า ‘กาละ’ (เวลา) กับ ‘พลังงาน’ (time and energy) เข้าด้วยกัน แต่คือการชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่มีคุณค่าและสำคัญที่สุดต่อประสบการณ์ชีวิตของพวกเรา ‘เวลา’ กับ ‘พลังงาน’ ที่เราใช้กันทั่วไปมีความหมายแค่เพียงเชิงนามธรรม และแยกขาดจากประสบการณ์ชีวิตมนุษย์ที่เป็นรูปธรรม แต่  ‘กาลพลังงาน’ คือการทำความเข้าใจการดำรงอยู่ ที่ไม่ใช่แค่ทางกาย ทางจิตใจ หรือในระดับโครงสร้าง แม้ว่าทั้งสามสิ่งนี้ และคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ จะช่วยทำให้เราเข้าใจแนวคิดนี้ได้ดีขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

กาลพลังงาน คือ ‘พลังงาน-กับ-เวลา’ และ ‘เวลา-กับ-พลังงาน’ ที่มีสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ขาด สำหรับมนุษย์แล้ว ‘กาลพลังงาน’ คือคุณสมบัติพื้นฐานของศักยภาพในการกระทำสิ่งต่างๆ จนบรรลุผล หากไร้ซึ่งกาลพลังงาน เราอาจไร้ซึ่งความหวังในการทำสิ่งที่สำคัญ

ลองพิจารณาดูว่า หากเรามี ‘เวลา’ แต่ไร้ซึ่ง ‘พลังงาน’ เวลานั้นจะไร้ความหมาย ‘เวลา’ ที่ไร้ซึ่งพลังงาน คือเวลาที่เราพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูพลังงานขึ้นมาใหม่ ถ้าเราใช้เวลาไปกับการทำงานหรือการเรียนเต็มวัน เรามักจะใช้เวลาว่างที่เหลือไปกับการเติมพลังงานให้เต็ม และกลับไปสู่การทำงานที่น่าเบื่อเช่นเดิม เนื่องจากปัจจุบันเรามักขาดพลังงานจนเป็นปกติ การมีปฏิสัมพันธ์ต่อโลกยามว่างจึงเป็นกิจกรรมเชิงรับอย่างการเสพสื่อบันเทิง เช่น การดู Tiktok หรือคลิปวิดีโอสั้นตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ  รวมไปถึงการบริโภคในรูปแบบอื่น

กล่าวคือ ความอุตสาหะ (sustained effort) ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็นการสละกาลพลังงานในชีวิตประจำวัน ความอุตสาหะต่างจากความพึงพอใจจากแรงกระตุ้นเฉพาะหน้า (immediate gratification) เพราะความอุตสาหะทำให้คุณเป็นผู้ผลิตหรือผู้สรรค์สร้าง แต่ความพึงพอใจจากแรงกระตุ้นเฉพาะหน้าทำให้คุณเป็นได้เพียงผู้บริโภค

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจต้องการโต้เถียงว่า “ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ก็เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอยู่แล้ว เพราะเราทำงานเพื่อรับเงิน เราจึงสามารถบริโภคได้” ซึ่งนั่นก็เป็นความจริง แต่ แรงงานรับจ้าง (wage labor) มีอยู่เพื่อการผลิตผลประโยชน์ส่วนตัวให้กับ นายทุน นายธนาคาร เจ้าของที่ดิน และชนชั้นสูงทางการเมืองเท่านั้น แรงงานรับจ้างจึงเป็นไปได้ที่จะใช้กาลพลังงานในหนึ่งสัปดาห์จนหมด และไม่เหลือพลังงานในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์กับเวลาช่วงเย็นหลังเลิกงานในการทำสิ่งอื่นต่อ หรือในบางช่วงที่มีพลังงานที่ล้นเหลือ ก็ไม่มีเวลาทั้งปี (มากพอ) ที่จะนำมันมาใช้ และหากความอุตสาหะที่แท้จริงของคุณมุ่งไปสู่การสร้างบริษัทหรือการเพิ่มพูนผลกำไรบนกรรมสิทธิ์เอกชนของผู้อื่น คุณจะไม่สามารถทุ่มเทความอุตสาหะให้กับชุมชน วัฒนธรรม หรือแม้แต่ชีวิตส่วนตัวของคุณ

เมื่อกล่าวถึงชีวิตส่วนตัว ชุมชน และวัฒนธรรม คำถามคือ สิ่งเหล่านี้คืออะไร? เหตุใดสามสิ่งนี้จึงต้องใช้ความอุตสาหะ หรือการสละกาลพลังงานอย่างต่อเนื่อง? ก่อนอื่น ให้พิจารณาว่า การกล่าวถึงกาลพลังงานในที่นี้จำเป็นต้องแยกความพึงพอใจจากแรงกระตุ้นเฉพาะหน้าออกจากความอุตสาหะเสียก่อน

เมื่อเข้าใจเช่นนั้นแล้ว เราจะเห็นถึงแง่มุมต่างๆ ในชีวิตส่วนตัว ชุมชน และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจจากแรงกระตุ้นเฉพาะหน้า อาหาร การเต้นรำ และเครื่องดื่ม อาจเป็นของชุมชนหรือวัฒนธรรมก็ได้ แต่การบริโภคไม่สามารถบ่งบอกถึงความสำคัญของการมีชีวิตได้ การมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมของคุณเองอย่างแท้จริงไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่คุณทำปีละครั้งหรือในวันหยุดเท่านั้น มันคือวิถีชีวิตต่างหาก  

‘ศิลปะชั้นสูง’ คือวิถีชีวิตที่ใช้ความรู้ในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจรวมถึงการฝึกฝนเพื่อผลิตงานศิลปะเหล่านี้ออกมา ศิลปะชนิดดังกล่าวจึงมักถูกมองว่าเป็นของชนชั้นสูงหรือพวกขุนนาง เพราะพวกเขามีเวลาว่างและการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษามากพอที่จะเพลิดเพลินกับศิลปะเหล่านี้ เราไม่สามารถชื่นชมบางสิ่งได้จริงๆ เว้นแต่เราจะรู้ว่ามันถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร ดังนั้น การพัฒนาทักษะส่วนบุคคลจึงหมายถึงการเรียนรู้สิ่งน่าสนใจหรือเติมเต็มความรู้สึก ไม่ใช่แค่เพื่อหาเงิน

เช่น หากคุณเรียนรู้การบรรเลงไวโอลินด้วยความอุตสาหะมาหลายปี คุณก็จะใช้มันเพื่อสร้างประโยชน์ต่อชุมชนและวัฒนธรรมของคุณ ด้วยการทำให้ผู้ฟังหลั่งน้ำตา และสร้างแรงบันดาลใจได้ในที่สุด ทักษะส่วนบุคคลจึงพัฒนาเราเกินกว่าจะเป็นเพียงสินค้าที่หาได้ดาษดื่น เว้นแต่คุณจะโชคดีมากๆ และคุณไม่มีความสนใจอื่นใดนอกเหนืออาชีพการงานแล้วจริงๆ

การใช้ชีวิตด้วยความพึงพอใจจากแรงกระตุ้นเฉพาะหน้ามีแต่จะส่งผลเสียต่อตัวคุณเอง ลองพิจารณาว่า จะเป็นอย่างไรหากความต้องการทางกายถูกสนองได้แต่ด้วยการบริโภค แต่ไร้ซึ่งประสบการณ์อันหลากหลายและเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้เองจะนำไปสู่การเสพติดการบริโภคในหลายรูปแบบ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการใช้สารเสพติด คุณจะต้องการมันมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงเพื่อจะคงสภาวะความสุขไว้ให้สูงอยู่ตลอด

ความอุตสาหะในกิจกรรมที่มีความหมายจะเกิดประโยชน์ต่อตัวคุณเองและผู้อื่น มันคือการเสริมสร้างวัฒนธรรมที่มักเกิดจากการสละความเพลิดเพลินในตอนนี้เพื่อผลิตผลทางวัฒนธรรมที่คุณสามารถแบ่งปันได้ในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทกวี หรือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์  

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ‘เวลา’ ในกาลพลังงานต้องอาศัยศักยภาพในการกระทำซ้ำ แต่มันมักถูกนำไปใช้จนหมด หรือถูกเวลางาน (labor time) แย่งความสำคัญไป  มูลค่าที่เราสร้างจึงมอบอำนาจให้แก่คนไม่กี่คนในระยะยาว ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ได้รับค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อยพอประทังชีวิตสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ทำนองเดียวกัน ‘พลังงาน’ ของกาลพลังงานไม่ได้เป็นเพียงพลังงานในความหมายเดิม อีกทั้งไม่ใช่พลังงานลึกลับ (woo-woo energy) และไม่ใช่แค่พลังงานทางกายภาพ พลังงานในความหมายของเรามีหลากหลายประเภทที่ใช้ในกิจกรรมหลากหลายรูปแบบซึ่งใช้แรงจูงใจแตกต่างกันตามคนแต่ละประเภท เช่น พลังงานทางกายภาพ สังคม ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ และสติปัญญา ซึ่งใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น กรีฑา การจัดตั้งทางการเมือง ศิลปะ มิตรภาพ และวิทยาศาสตร์ สิ่งที่น่าสงสัยคือ ทำไมคนคนหนึ่งถึงสนใจกิจกรรมประเภทใดประเภทหนึ่ง และอะไรคือแรงจูงใจหลักที่ทำให้เขาสนใจกิจกรรมนี้ แน่นอนว่าแต่ละคนมีบุคลิกหรือนิสัยที่แตกต่างกัน บางคนชอบพบปะผู้คนมากกว่าเก็บตัว หรือใช้ความรู้สึกแทนการคิด แต่บุคลิกหรือนิสัยนั้นไม่ได้บ่งบอกทุกอย่าง เพราะการเข้าสังคมสำหรับบางคนต้องใช้กาลพลังงานมากกว่า ไม่ได้แปลว่าพวกเขาอยากมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมน้อยลง เพียงแต่พวกเขาต้องการกาลพลังงานในแต่ละสัปดาห์มากขึ้นเพื่อทำกิจกรรมในชีวิตตามปกติ หรือกักเก็บกาลพลังงานของตัวเองไว้ใช้ในกิจกรรมทางสัมคมที่จำเป็นเท่านั้น

ปัจจัยที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งที่กระตุ้นให้เราทำกิจกรรมเหล่านี้คือจุดอ้างอิงของพื้นที่ทางสังคม ซึ่งในที่นี้หมายถึงคนใกล้ตัว เช่น ครอบครัว เพื่อน ครู นายจ้าง เพื่อนร่วมงาน สหาย หรือผู้ร่วมกิจกรรมทางศาสนา อาจกล่าวได้ว่า ในวัยเด็กทุกคนย่อมปรารถนาการยอมรับจากผู้อื่น แต่กระนั้น การยอมรับ ก็ต่างจาก การให้ความสนใจ เช่นเดียวกับที่กาลพลังงานจะช่วยให้ความอุตสาหะเกิดขึ้นได้ฉันใด การให้ความสนใจก็จะช่วยให้การยอมรับเกิดขึ้นได้ฉันนั้น                    

การยอมรับ คือการรับรู้คุณค่าของเรา มันคือความเคารพและการชื่นชม อย่างไรก็ตาม เมื่อการยอมรับคือการรับรู้อย่างรอบด้าน เราจึงไม่สามารถละเลยข้อบกพร่องของตัวเราเองได้ ฉะนั้น การยอมรับจึงมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งด้านลบก็หมายถึง การที่ผู้อื่นไม่เห็นด้วยหรือผิดหวังในตัวเรานั่นเอง

เราทุกคนต้องการการยอมรับจากผู้คนที่หลากหลาย เพื่อให้เขาเข้าใจตัวตนและความสามารถที่เรามี การมีส่วนร่วมของชุมชนและวัฒนธรรมตั้งแต่อายุยังน้อยจะสร้างความเข้าใจที่เรามีต่อวิธีการสร้างการยอมรับ ซึ่งหากสิ่งที่เราเห็นคือผู้คนที่ไปทำงานและนั่งเล่นโทรศัพท์ เราก็เออออไปเองว่าเรานั่นคือวิธีที่เราจะได้รับการยอมรับ ชีวิตทางสังคมที่ถูกเปลี่ยนเป็นสินค้าได้จำลองการมีส่วนรวมชุมชนและวัฒนธรรม แต่ปฏิสัมพันธ์ในโลกเสมือนก็แทบไม่เป็นความจริง โลกออนไลน์คือรูปแบบของการมีปฏิสัมพันธ์แบบกึ่งมีส่วนร่วมทางสังคม (parasocial relationship) ซึ่งจำลองการยอมรับที่ตัดทอนต่างหาก

ดังนั้น ปัญหาคือการยอมรับอย่างแท้จริงต้องใช้กาลพลังงาน ไม่ใช่แค่กาลพลังงานตัวคุณเอง แต่รวมถึงกาลพลังงานของผู้อื่นด้วย การที่คนอื่นจะรู้จักคุณได้อย่างถ่องแท้ พวกเขาต้องใช้เวลาพอสมควรในการทำความรู้จัก และไม่ใช่แค่ในการทำความรู้จักเชิงรับที่พวกเขาสนใจคุณแค่ในบางเรื่อง แต่พวกเขาต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจคุณอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตอบสนองและมีปฏิสัมพันธ์กับคุณในทั้งด้านดีและด้านเสีย

แม้กระนั้น ทุนนิยมก็พอมีดีอยู่บ้าง (ซะที่ไหน) หนึ่งในนั้น คือการผลิตสินค้าป้อนให้เราบริโภค กล่าวคือ การบริโภคอย่างไร้จุดหมายคือวิถีชีวิตปกติของเราในเวลาสุดสัปดาห์หรือช่วงเย็นหลังเลิกงานที่เราไม่เหลือพลังงาน และต้องกลับไปพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูพลังงานใหม่ ณ จุดนี้ เราได้ใช้จ่ายค่าแรงที่ได้มาจากความอุตสาหะในการทำงาน เพียงเพื่อเราจะมีความสุขกับช่วงเวลาขณะนั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชนที่คอยสนับสนุนหรือเสนอวิธีการใช้กาลพลังงานที่แท้จริงของเราออกมาที่ไม่ใช่แค่การผลิตสินค้าเพื่อบริโภคตามตรรกะทุนนิยม หากคนในชุมชนไม่มีกาลพลังงานมากพอที่จะร่วมสร้างชุมชน (community) และ วัฒนธรรมไปกับเรา ผลที่ตามมาคือ ชุมชนและวัฒนธรรมที่แตกระแหง

คำถามที่ตามมาคือ เราต้องทำอย่างไรเพื่ออุดรอยแยกเหล่านี้? แล้วการเปลี่ยนสังคมให้เป็นสินค้าล่ะ! มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? เราอาจตั้งต้นที่ เศรษฐกิจบนความสนใจ (attention economy) แบบออนไลน์ ซึ่งภาพและสัญญาณของการใช้ชีวิตในสังคมถูกขายให้เราแค่ด้านเดียว มันละทิ้งองค์ประกอบสำคัญบางอย่างของชีวิตทางสังคมไป กล่าวคือ การให้ความสนใจในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ ทั้งผู้ให้ความสนใจและผู้ถูกสนใจมักละเลยหรือละทิ้งความเป็นมนุษย์ในแบบองค์รวม แม้เราจะสามารถเชื่อมโยงกับผู้คนในชุมชนตามความสนใจได้ก็จริง แต่เรามักถูกตัดขาดจากความสัมพันธ์ที่ใช้เวลาและการทำความเข้าใจผู้คนที่หลากหลาย ณ จุดนี้เอง ความสัมพันธ์ฉันมนุษย์จึงถูกแทนที่ด้วยการปัดหน้าจอ หรือการคลิกเมาส์เพียงไม่กี่ครั้ง

ปัจจุบัน การให้ความสนใจเปรียบได้กับเงินตรา และเรามีแต่จะแจกจ่ายมันมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงเท่านั้น เรายังต้องการผลตอบรับมากกว่าสิ่งที่แสดงออกไป แต่การได้อะไรกลับมา เราจำเป็นต้องเสียอะไรมากกว่าได้รับ เวลาส่วนมากที่เราไม่มีพลังงานใช้จึงหมดไปกับความสนใจในเชิงรับ (passive attention) ในระบบเศรษฐกิจบนความสนใจ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว เรามักลองเสี่ยงเพื่อโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมา แต่ความสนใจที่ว่ามักถูกจำกัดขอบเขตไว้เพียงแง่มุมเดียว คือการมีปฏิสัมพันธ์แบบกึ่งมีส่วนร่วมทางสังคมเท่านั้น

เมื่อเราไม่ได้รับการยอมรับ เรามักดิ้นรนอย่างไม่ลืมหูลืมตา และตะเกียกตะกายอย่างไม่คิดชีวิตเพื่อให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หากแหล่งชุมชนและวัฒนธรรมของเราไร้ซึ้งกาลพลังงาน มันก็ไร้ซึ่งหนทางที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น เศรษฐกิจบนความสนใจมีวิธีการดึงดูดความสนใจสองวิธี วิธีแรก คือการสรรค์สร้าง (ซึ่งต้องสละกาลพลังงานเป็นอย่างมาก) วิธีที่สอง คือการเกาะกระแส วิธีหลังเปรียบได้กับการวิ่งตามอิทธิพล (clout) ของผู้ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ ไม่ว่าเขาจะไล่ตามเพราะความชอบหรือความชังก็ตาม กล่าวให้ชัดคือ ทั้งความชอบและความชังนี้เองที่ทำให้เราสามารถเลือกปลูกฝังอัตลักษณ์ในกลุ่มแฟนคลับ ที่รวมตัวกันบนความชอบและความชังต่อไอคอนด้านวัฒนธรรมหรือความบันเทิงที่มีร่วมกัน

ไม่เพียงเท่านี้ การปลูกฝังอัตลักษณ์ยังสามารถอธิบายคำพูดเสียดสีที่รุนแรงที่เห็นกันประจำบนโลกอินเตอร์เน็ต นั่นเป็นเพราะผู้คนรู้สึกเบื่อหน่ายกับการให้ความสนใจมากเกินโดยแทบไม่ได้รับอะไรกลับมา จนรู้สึกไม่พอใจผู้ที่เป็นต้นแบบในการประสบความสำเร็จที่ได้รับความสนใจมากกว่าที่ควรได้ ด้วยความที่เราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการให้ความสนใจภาพของผู้อื่นที่ปรากฎตามสื่อต่างๆ เราจึงรู้สึกเบื่อพวกเขาค่อนข้างง่าย พวกเขาไม่ใช่ผู้คนจริงๆ แต่เป็นเพียงตัวละครที่ยืนยันหรือปฏิเสธการ ‘เป็นอยู่’ ของตัวตนเรา ฉะนั้น พวกเขาจึงได้รับความชอบและความชังจากเรา ไม่บ่อยนักที่เราไม่ได้สนใจว่าใครบ้างที่ไม่สมควรได้รับความสนใจ แต่เรามักจะโกรธ และคิดว่าทำไมผู้คนถึงพูดถึงแต่คนๆ นี้? คนๆ นี้ควรค่าแก่ความสนใจขนาดนั้นเลยหรือ? เช่น ข่าวซุบซิบไร้สาระของพวกคนมีชื่อเสียง

สิ่งนี้เองที่สร้างสภาพแวดล้อมของการเสียบประจานและการแอนตี้อย่างรุนแรงขึ้น มันส่งเสริมมากกว่าแค่วัฒนธรรมการเรียกร้อง (Call-out Culture) ซึ่งเป็นเพียงแง่มุมหนึ่งเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการโพสหรือการแสดงความเห็นอย่างไม่ยั้งคิด หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า ‘ทัวร์ลง’ โดยการแสดงออกเหล่านี้ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อการตอบรับจากผู้อื่น เพราะหากไม่ได้รับการยอมรับ สิ่งที่ทำไปก็เป็นแค่เพียงการเรียกร้องความสนใจ และความสนใจที่พยายามเรียกร้องไปก็เปล่าประโยชน์

สุดท้ายนี้ ในยุคที่แรงงานมนุษย์ได้สละความอุตสาหะให้กับผลประโยชน์ของเอกชน และแรงงานมนุษย์ได้ถูกลดค่าลงจากการเติบโตของระบบอัตโนมัติ เราจึงจำเป็นต้องรู้วิธีจัดลำดับความสำคัญของกาลพลังงานซึ่งเป็นความมั่งคั่งแท้จริงของมนุษย์ ไม่ใช่การให้ความสำคัญแก่ผลกำไรมากกว่ามนุษย์และโลกใบนี้ มิฉะนั้น เราจะเห็นการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมที่ ‘คนอื่น’ ถูกมองว่าเป็นตัวบั่นทอนเศรษฐกิจหรือแย่งการยอมรับจากเราไป เพราะการขาดแคลนทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการจ้างงานที่ลดลงจากระบบอัตโนมัติ

เราจึงต้องผลักดันให้ ‘กาลพลังงาน’ ขึ้นมาเป็นคุณค่าหลัก มิใช่เงินตราหรือผลกำไร (ของนายทุน) สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงคุณค่ารองของคุณค่าที่สำคัญที่สุด อย่างกาลพลังงานของมนุษย์ หากไร้ซึ่งกาลพลังงาน เราจะถอยห่างจากชุมชน พร้อมกับการทำลายตนเอง และโลกใบนี้

หมายเหตุ : บทความแปลชิ้นนี้เป็นการแปลและเรียบเรียงมาจากบทความที่ย่อยแนวคิดในวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนต้นฉบับ โดยตัวบทความใช้ทัศนทางความคิดแบบตามขนบของ Heidegger เพื่อวิเคราะห์แนวคิดหลักในแบบ Marxian https://medium.com/@theorypleeb/timenergy-an-existential-analysis-of-labor-power-5fc5b0071452

AUTHOR

Seedling Avatar

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *