ประโยชน์ต่อตนเองในการเป็นซ้าย ตอนที่ 1

แน่นอนว่าในการเป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายก้าวหน้า หรือฝ่ายประชาธิปไตยที่มุ่งมั่นใช้แรงกาย แรงใจ และแรงทางความคิดในการต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเห็นผลช้าหรือเร็ว ได้ผลน้อยหรือมาก ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

แต่ในทางกลับกันแล้ว อะไรคือ ‘ประโยชน์ต่อตนเอง’ ในการเป็นซ้าย? เป็นเรื่องผิดหรือไม่ที่จะพยายามหาคำตอบว่าเราได้อะไรจากการเป็นฝ่ายซ้าย เพราะบ่อยครั้ง คำถามดังกล่าวก็อาจจะเป็นคำถามต้องห้ามสำหรับนักกิจกรรมหรือนักต่อสู้ทางการเมืองเสียด้วยซ้ำไป เพราะดูจะขัดกับหลักคิดเรื่องการเสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวมตามที่เข้าใจและยึดถือกันโดยทั่วไป

เหตุผลที่เราจำเป็นต้องลุกขึ้นมาถามคำถามดังกล่าวอย่างจริงจัง เป็นเพราะหากเราสามารถให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ช่วยให้คนอีกจำนวนมากหันมาสนใจศึกษาและเข้าร่วมกับขบวนการฝ่ายซ้าย ทำให้พวกเขารู้สึกว่าการเป็นซ้ายไม่ใช่เรื่องของคนเหนือมนุษย์ที่เกิดมามีจิตใจสูงส่งกว่าคนทั่วไป หรือพร้อมจะเผชิญกับความทุกข์ทรมานด้วยจิตใจที่ตั้งมั่นไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว แต่เป็นเรื่องของสามัญชนคนทั่วไปที่มีทั้งความสุขและความทุกข์ มีทั้งความกล้าและความกลัว มีความต้องการและความอยาก มีทั้งความปรารถนาดีต่อตนเองและต่อผู้อื่น มีทั้งช่วงที่ใจเป็นซ้ายและใจเป็นขวา บางทีความคิดก็ก้าวหน้า บางทีก็ล้าหลัง

นอกจากนี้ การตระหนักและเข้าใจถึงผลประโยชน์ที่ได้แก่ตนเองย่อมเป็นผลดีต่อเราทุกคนที่ปวารณาตัวเองเป็นซ้ายอยู่แล้ว เพราะจะช่วยให้พวกเราสามารถประคองไฟแห่งอุดมการณ์ข้ามผ่านยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความหดหู่สิ้นหวัง ความฟุ้งซ่าน และความโลเลที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายของเราไปได้

เช่นนั้นแล้วอะไรคือประโยชน์ต่อตนเองในการเป็นซ้าย?

การเป็นซ้ายในทางความคิดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราไม่เพียงแต่จะต้องมีความรู้เรื่อง ‘การเมือง’ เท่านั้น  แต่ยังต้องอาศัยความรู้ทั้งในทางเศรษฐศาสตร์ ปรัชญา สังคมวิทยา จิตวิทยา และวรรณกรรมอย่างเป็นองค์รวม ยิ่งไปกว่านั้น การเป็นซ้ายก็ไม่ใช่แค่การ ‘มีความรู้’ แต่ยังต้องอาศัยการทำความเข้าใจ ‘บริบท’ ของปัญหา รวมถึงเข้าใจ ‘เงื่อนไข’ ที่กำหนดความเป็นไปของสรรพสิ่งในแต่ละพื้นที่และช่วงเวลา ตามหลักการวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (Historical Materialism) และวัตถุนิยมวิภาษวิธี (Dialectical Materialism) ด้วย

ดังนั้น ฝ่ายซ้ายจึงจำเป็นต้องมีความคิดเชิงวิพากษ์ ต้องพิจารณาอยู่เสมอว่าเรา ‘ควรทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และเพื่ออะไร’ แตกต่างจากวิธีคิดแบบศาสนาหรือลัทธิทางการเมืองอื่นๆ ที่มักเป็นคำสั่งหรือชุดความคิดตายตัวตามคัมภีร์หรือตำรา ไม่มีความจำเป็นต้องคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจบริบทใหม่ๆ หรือทำอะไรที่นอกเหนือจากที่ตำราได้เคยระบุไว้

ประโยชน์ต่อตนเองประการแรกในการเป็นซ้ายจึงเป็นการช่วยให้เรารู้จักคิดเชิงวิพากษ์ รู้จักวิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหา สาเหตุ เงื่อนไข และบริบทแวดล้อมของสิ่งต่างๆ ซึ่งทักษะดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพและแหลมคมมากขึ้น แต่ยังนำมาซึ่งประโยชน์ทางจิตใจคือ การให้อภัยตัวเองและคนอื่นได้มากขึ้น

สองสิ่งนี้เชื่อมโยงกันอย่างไร? หลายท่านอาจจะเคยเห็นฝ่ายซ้ายหรือนักกิจกรรมหลายคนที่มักมีพฤติกรรมโบยตีตนเอง หรือกล่าวโทษคนอื่นอยู่เป็นประจำ เช่นนั้นแล้วพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่ฝ่ายซ้ายหรอกหรือ?

เมื่อเราพิจารณาผ่านกรอบของวัตถุนิยมวิภาษวิธี เราจะเห็นว่าความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของปัจเจกบุคคลล้วนถูกกำหนดโดยโครงสร้างทางสังคม ทั้งในเชิงนามธรรมและรูปธรรม 

แน่นอนว่าการใช้ชีวิตนั้นสัมพันธ์กับสุขภาพ เพียงแต่ว่า ‘การใช้ชีวิต’ ของนักวาด เช่นเดียวกับชีวิตของคนทำงานอาชีพอื่นๆ นั้นแยกไม่ออกจากการทำงาน การหารายได้ และความมั่นคงบนโลกที่ไม่มั่นคง ปัญหาสุขภาพจึงเป็น ‘แผล’ ที่ทุน ‘กดทับ’ แลกมากับการทำงาน และคนทำงานเองก็ ‘กดทับ’ จนแผลดังกล่าวมันเป็น ‘เรื่องปกติ’ ที่ใครทนได้ก็ทนเอา

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นข่าวว่ามีคนแอบไปขโมยนมผงมาจากร้านสะดวกซื้อ เราอาจรู้สึกว่าการลักขโมยนั้นเป็นการกระทำไร้ศีลธรรมสมควรลงโทษและรุมประณามสาปแช่ง แต่เมื่อเราอ่านข่าวไปอีกกลับพบว่า แท้จริงแล้วหัวขโมยคนนั้นเป็นผู้หญิงที่มีลูกเล็ก แต่เธอไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อนมให้ลูกกิน นอกจากเราอาจจะให้อภัยหัวขโมยรายนี้ได้แล้ว เราอาจจะมองเห็นต่อไปอีกว่าถ้าหากมีการจัดการทรัพยากรอย่างสมเหตุสมผล กรณีขโมยนมผงแบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

เราจะเห็นว่าการกล่าวโทษปัจเจกที่กระทำความผิดนั้น นอกจากจะเป็นการซ้ำเติมผู้ถูกกดขี่แล้ว ยังไม่ช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยในเชิงโครงสร้าง คนที่ถูกขูดรีดก็จะถูกขูดรีดเหมือนเดิม จนเหมือนเดิม และสุดท้ายก็ไปก่ออาชญากรรมลักขโมยสิ่งของเหมือนเดิม (แต่ทั้งนี้ การเอาแต่แสดงความเห็นอกเห็นใจคนจนที่ก่ออาชญากรรมโดยไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงระบบอย่างจริงจังก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเช่นกัน) 

ดังนั้น เมื่อเรานำหลักการวัตถุนิยมวิภาษวิธีนี้มาใช้ในการมองชีวิตประจำวันของตัวเองและคนรอบข้าง เราก็จะยิ่งพบว่าเราสามารถ ‘ให้อภัย’ กับความผิดพลาดของตัวเองและคนอื่นได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะต่างจากมุมมองแบบปัจเจกนิยมที่มองว่า “ความผิดของปัจเจก เกิดจากปัจเจก ก็ต้องลงโทษที่ปัจเจก” 

เช่นนั้นแล้วอะไรคือประโยชน์ต่อตนเองในการเป็นซ้าย?

อันที่จริงแล้ว เราจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่าภายใต้กรอบคิดแบบซ้ายนั้น มันไม่มี ‘การเป็น’ หรือ ‘Being’ ที่สมบูรณ์ ถาวร หรือตายตัว หากแต่ทุกชั่วขณะในการดำรงอยู่ของเราล้วนแต่มี ‘การกำลังจะเป็น’ หรือ ‘Becoming’ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในแง่นี้ เราจึงสามารถ ‘กลายเป็น’ สิ่งอื่นได้ตลอดเวลา เหมือนที่ความเป็นจริงของโลกทุนนิยมเองก็ไม่ใช่ความจริงสูงสุดของจักรวาลหรือธรรมชาติที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากแต่ถือกำเนิดมาจากเงื่อนไขทางวัตถุในช่วงเวลาหนึ่ง และเฝ้ารอวันที่ตัวระบบทุนนิยมเองก็จะต้องเปลี่ยนแปลงกลายไปเป็นสิ่งใหม่สิ่งอื่นด้วยเช่นกัน

เฉกเช่นเดียวกัน ‘การเป็นซ้าย’ นั้นไม่ใช่สภาวะการเป็นที่มั่งคงถาวร และ ‘การเป็นซ้าย’ ก็ไม่ใช่สิ่ง ‘เป็น’ ผ่านการยึดถือเป็นเพียงอัตลักษณ์ (identity) แต่เพียงเท่านั้น ‘การเป็นซ้าย’ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์ต่อโลกในแบบซ้าย ไม่ว่าจะผ่านโลกทัศน์ ความคิด ความรู้สึก และการกระทำ กล่าวคือ ‘เราเป็นซ้าย’ เพราะเรามองเห็นโลกแบบซ้าย เราคิดและรู้สึกแบบซ้าย และเราลงมือปฏิบัติแบบซ้าย การ (กำลังจะ) เป็นซ้ายจึงเหมือนกองไฟที่ต้องคอยเติมฟืนเพื่อให้ไฟยังลุกโชนอย่างต่อเนื่อง

หากเราใช้มุมมองแบบขวา (โทษตัวเอง โทษคนอื่น โทษปัจเจก) เมื่อนั้นเราก็ ‘เป็นขวา’ หากเราใช้มุมมองแบบซ้าย (มองผ่านบริบท ประวัติศาสตร์ และเงื่อนไขทางวัตถุ) เมื่อนั้นเราก็ ‘เป็นซ้าย’ เราคงไม่อาจนับคนที่พูดจาดูถูกเหยียดหยามกรรมาชีพว่าเป็นซ้ายได้ เพียงเพราะว่าเขา ‘เคย’ ประกาศตนว่าเป็นฝ่ายซ้าย

โลกทัศน์แบบเสรีนิยมและปัจเจกนิยมสุดโต่งทำให้เราวนเวียนอยู่กับความรู้สึกเชิงลบ ทั้งความผิดพลาด ความผิดหวัง ความพ่ายแพ้ และความล้มเหลว ซึ่งมักจะถูกพุ่งเป้าไปที่ปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นตัวเราหรือปัจเจกคนอื่นๆ การที่เรามีปฏิสัมพันธ์ต่อโลกในแบบซ้ายในทุกๆ ขณะจะช่วยให้เราเป็นอิสระจากการโทษตัวเองและคนอื่น เป็นอิสระจากการเปรียบเทียบแข่งขัน การแก่งแย่งชิงดี การอิจฉาริษยา และอารมณ์ทางลบอื่นๆ ที่มีต้นเหตุมาจากการหมกมุ่นในความเป็นปัจเจก

ในทางกลับกัน มุมมองแบบซ้ายกลับช่วยส่งเสริมให้เราเข้าอกเข้าใจ ‘คนอื่น’ ได้มากขึ้น นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน รวมไปถึงสร้างเอกภาพระหว่างกลุ่มคนต่างๆ แทนที่จะเป็นการแบ่งแยก

นี่ไม่ใช่เรื่องของศีลธรรมศาสนา แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์ตรงที่เกิดจากการปฏิบัติและลงมือทำ ประโยชน์ต่อตนเองในการเป็นซ้ายจึงเกิดขึ้นเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์ต่อโลกในแบบซ้ายเท่านั้น ไม่ใช่เพียงแค่การประกาศตนเป็นฝ่ายซ้ายเฉยๆ โดยไม่ลงมือทำอะไรเลย

อย่างไรก็ตาม การลงมือทำก็ต้องอาศัยมุมมอง โลกทัศน์ และความคิดแบบซ้ายด้วย เมื่อคิดแบบซ้ายก็ย่อมรู้สึกแบบซ้าย อารมณ์ทางลบที่เกิดจากการกล่าวโทษปัจเจกก็จะลดลง การเป็นคนที่อารมณ์ดีก็จะยิ่งสนับสนุนจิตใจของการเป็นซ้ายให้เข้มแข็งขึ้น นำไปสู่ศักยภาพในการทุ่มเทให้แก่ขบวนการได้มากขึ้นอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า ‘ความคิด-ความรู้’ แบบซ้ายนำไปสู่ ‘อารมณ์ความรู้สึกแบบซ้าย’ ซึ่งช่วยเสริมสร้างสุขภาวะให้แก่คนที่เป็นฝ่ายซ้าย การเข้าใจถึงผลประโยชน์ที่เกิดแก่ตนเองในการเป็นนักต่อสู้จึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดบาปแต่อย่างใด แต่ปัญหาคือเรามักหลงลืมที่จะใช้เลนส์แบบซ้ายในการมองโลก เนื่องจากเราเคยชินกับการมองโลกอีกแบบมาเป็นเวลานาน กลุ่ม Holistic Leftist Tool ของเราก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อชักชวนให้สหายทุกคนหันมามองโลกใหม่ ด้วยมุมมองและความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ เพื่อที่เราจะได้สามารถรักษาตนเอง รักษาคนอื่น และรักษาอุดมการณ์ของพวกเราทุกคนต่อไปในการต่อสู้อันแสนยาวไกลที่ดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ประโยชน์ต่อตนเองในการเป็นซ้ายไม่ได้มีเพียงเท่านี้ รอติดตามกันได้ในบทความต่อไป ซึ่งจะว่าด้วย ’ประโยชน์ของการมีคอมมูน (Commune)’

AUTHOR

Comrade Sink Avatar

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *