“ม๊อบไร้แกนนำ”
เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติที่พวกเราชาวไทยได้ประสบเมื่อครั้งการประท้วงใหญ่ ในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2563 ซึ่งวิถีในการประท้วงเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับขบวนการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็น “แนวทางที่เป็นที่นิยมที่สุด” ในการประท้วงทั่วโลกในปี 2010 – 2020 โดยในบทความนี้จะยังไม่ได้กล่าวถึงกรณีของประเทศไทยเรามากนัก ซึ่งจะมีมาเพิ่มเติมในบทความต่อ ๆ ไปครับ
ระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์ (Democratic centralism)
เป็นแนวคิดที่ว่ามุมมองและแนวปฏิบัติของพรรค (หรือองค์กร) จะถูกนำเข้าที่ประชุมเพื่อโหวตแบบประชาธิปไตย และเมื่อได้มติเสียงส่วนใหญ่ตัดสินออกมาแล้ว มตินั้นจะถูกบังคับใช้อย่างเป็นลำดับขั้น (hierarchically) ที่มีสายบังคับบัญชาชัดเจน วิธีการจัดการองค์กรแบบนี้เป็นแนวทางหลักของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการจัดตั้งองค์กรและการปฏิวัติที่ประสบความสำเร็จของพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks) จนเกิดเป็นสหภาพโซเวียตขึ้นมา
แต่ในเวลาต่อมาฝ่ายซ้ายในโลกตะวันตกก็มองว่าสุดท้ายแล้วแนวทางแบบนี้กลับนำไปสู่ระบบอำนาจนิยม (authoritarianism) ไม่ต่างกับระบบเผด็จการรูปแบบเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้น ดังนั้นจึงเกิดแนวคิด “ซ้ายใหม่” ขึ้นมาต่อต้านแนวทางแบบนี้
การเคลื่อนไหวแนวระนาบนิยม (Horizontalism)
เป็นศัพท์ที่ถูกคิดขึ้นเพื่อใช้ในการอธิบายการประท้วงในอาร์เจนติน่าเมื่อปี 2001 แต่แนวคิดนี้สามารถสืบย้อนไปถึงพวก ซ้ายใหม่ (New Left) ในปี 1968 ซึ่งขบวนการต่อสู้เรื่องสิทธิพลเมืองและต่อต้านสงครามเวียดนาม โดยแนวคิดนี้จะเป็นการต่อต้านรูปแบบการจัดองค์กรแบบ ซ้ายเก่า (Old Left) (แบบเลนินนิสต์) ที่ให้ความสำคัญกับระบบ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” (Democratic centralism)
ดังนั้น ‘การเคลื่อนไหวแนวระนาบนิยม’ จึง ไม่มีผู้นำ, ไม่มีการแบ่งลำดับชั้น, สมาชิกแต่ละคนสามารถเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำตามมติส่วนรวมก็ได้เป้าหมายสูงสุดก็ไม่ใช่การยึดอำนาจรัฐ หากแต่เป็นการสร้างพื้นที่ให้เกิดบทสนทนาถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆในทางการเมือง มากกว่า
การประท้วงในแนวทางนี้ก็จะเห็นได้ใน เหตุการณ์อาหรับสปริงส์, การประท้วงฮ่องกอง (2019), การประท้วงเกซี่พาร์ค (Gezi Park protests) ในตุรกี, การประท้วงบราซิล (2013) และการประท้วงยูโรไมดาน (Euromaidan) ในยูเครน ซึ่งล้วนแล้วแต่จบลงด้วยการขึ้นสู่อำนาจของฝ่ายขวาทั้งสิ้น
การประท้วงเหล่านี้มีลักษณะร่วมกันได้แก่
- การเดินขบวนไปยึดจตุรัสใจกลางเมือง หรือ สถานที่สำคัญอันมีความหมายเชิงสัญลักษณ์
- การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ที่นำไปสู่การผลิตและบริโภคสื่อโซเชียลมีเดีย
- การต่อสู้กับตำรวจ
- การทำลายทรัพย์สิน
- การปิดถนนและเส้นทางคมนาคม
ท่านผู้อ่านอาจคิดว่าที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องปกติของการประท้วงนี่ ไม่งั้นจะให้มีอะไรอีกล่ะ ? แต่นี่แหละเป็นหลักฐานว่าแนวคิดแบบ ‘การเคลื่อนไหวแนวระนาบนิยม’ นั้นฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมของเรามากแค่ไหน และหากเราพิจารณาว่า
การประท้วงแบบดังกล่าว “ไม่มี” อะไรบ้างซึ่งได้แก่
- การลอบสังหารโดยวางแผนไว้ก่อน
- การใช้กองกำลังติดอาวุธเข้ายึดสถานที่ราชการ
- การสังหารหมู่
- การนัดหยุดงาน
- การเขียนจดหมาย
- การเข้ายึดปัจจัยการผลิต (Seize the means of production)’ (1)
ซึ่งปัญหาสำคัญของวิธีการประท้วงรูปแบบนี้ก็ คือ การไม่สามารถควบคุมการประท้วงที่พวกเขาก่อขึ้นได้ และ การไม่สามารถเจรจาต่อรอง (Negotiation) กับภาครัฐให้ได้ตามวัตถุประสงค์ได้
‘Movimento Passe Livre (Free Fare Movement) ฟรีแฟร์มูฟเม้น เป็นขบวนการที่มีการวางแผนมาอย่างดีและมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนอย่างมาก (คือ การหยุดการขึ้นราคารถโดยสารสาธารณะของเมืองเซา เปาโล) ซึ่งคล้ายคลึงกับการประท้วงยูโรไมดาน ที่เริ่มจากการประท้วงเล็กๆต่อต้านประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานุโควิชผู้ทำการขัดขวาง “ข้อตกลงสหภาพยุโรป-ยูเครน” กลุ่มผู้นำการประท้วงเล็กๆนี้ ได้ทำให้เกิดกระแสการประท้วงครั้งใหญ่ซึ่งพวกเขาไม่สามารถควบคุมได้’ (2)
แต่ที่น่าสนใจสำหรับกรณีของการประท้วงในบราซิล คือ เจ้าหน้าที่เมือง (เซาเปาโล) ได้เชิญให้แกนนำขบวนการฟรีแฟร์มูฟเม้นมาทำการเจรจ่าต่อรองเรื่องราคารถโดยสารสาธารณะ พวกเขากลับตอบปฏิเสธการเจรจาซึ่งนี่ทำให้เห็นถึงปัญหาที่อยู่ลึกลงไปมากขึ้น นอกจากนี้คะแนนความนิยมของประธานาธิบดีฝ่ายซ้าย ดิลมา รูสเซฟ (Dilma Roussef) ก็ได้ลดลงจาก 57% เหลือ 30% และต่อมาก็ถูกถอดถอนลงจากตำแหน่งในปี 2016 แผ้วถางทางให้กับประธานาธิบดี แฮร์ บอลโซนาโร (Jair Bolsonaro) ขึ้นสู่อำนาจในปี 2019
ปรากฏการณ์นี้ไปคล้ายกับกรณีการประท้วงในอียิปต์อย่างน่าตกใจ เมื่อเดือนมกราคม ปี 2011 ได้มีการประท้วงต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจที่เกิดขึ้นภายใต้การครองอำนาจเผด็จการอย่างยาวนานของ ฮอสนี มูบารัค (Hosni Mubarak) มีการชุมนุมกันในจตุรัสตาเรียร์ (Tahrir square) และจตุรัสกลางในกรุงไคโร หลังจากมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ฮอสนี มูบารัค ก็ยอมลงจากอำนาจและเปิดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งผลการเลือกตั้ง คือ นายโมฮาเหม็ด มอร์ซี่ (Mohamed Morsi) จากพรรคภราดรภาพมุสลิมชนะการเลือกตั้ง และ พยายามผลักดันรัฐธรรมนูญแบบอิสลาม ทำให้เกิดการประท้วงขึ้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2013 ต่อมานายมอร์ซี่ก็ถูกยึดอำนาจโดยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของเขาเอง คือ นายฟาเตะห์ เอล ซีซิ (Fattah el-Sisi) ที่ต่อมาได้สถานปนาตนขึ้นเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารรูปแบบเดียวกับสมัยของ ฮอสนี มูบารัค
เบวินส์เสนอว่าสาเหตุที่ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ปฏิเสธการเจรจาต่อรองหรือทำข้อตกลงใดๆ เพราะพวกเขากระทำการภายใต้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงอันตวิทยา (teleological theory of change) ซึ่งมีใจความว่า “ประวัติศาสตร์มีทิศทางโดยธรรมชาติของมันอยู่ และ ทิศทางดังกล่าวจะนำไปสู่ทางที่ดี”
“ผู้คนมากมายในรุ่นของผมคิดว่า แค่เพียงเรา ‘ช่วยผลัก’ ประวัติศาสตร์สักหน่อย มันก็จะไม่ติดขัดและเริ่มเคลื่อนที่ไปในทางที่ถูกต้อง” (3) เบวินส์ได้กล่าวไว้
ซึ่งขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะสามารถจำแนกออกมาได้ดังนี้
- การประท้วงและการโดนปราบปรามนำมาสู่กระแสในโซเชียลมีเดีย
- กระแสในโซเชียลมีเดียทำให้คนออกมาประท้วงมากขึ้น
- ทำข้อ 1,2 ซ้ำจนกว่าทุกๆคนจะออกมาประท้วง
- ???
- สังคมที่ดีกว่าเดิม
ซึ่งผลที่ตามมา คือ การขึ้นสู่อำนาจของผู้นำฝ่ายขวา สาเหตุเพราะเมื่อเกิดจลาจลความวุ่นวายขึ้น เหล่าผู้นำขบวนการฝ่ายซ้ายที่ถูกครอบงำโดยแนวคิดแนวระนาบนิยม จะปฏิเสธการยึดกุมอำนาจ (แม้ว่าสถานการณ์ คือ อำนาจถูกมอบใส่ในมือพวกเขาก็ตาม) ทำให้กลุ่มฝ่ายขวาที่ไม่ปฏิเสธการมีอำนาจและการใช้ความรุนแรง ได้ทำการฉวยโอกาสเอาอำนาจกลับมายังพวกเขาแทน
ประเด็นปัญหาของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าวิธีปฏิวัติแบบเลนินนิสต์นั้นน่าพึงพอใจหรือไม่ เพราะมัน “เป็นไปไม่ได้” ในยุคสมัยปัจจุบันแล้ว เพราะปรากฏการณ์ความเสื่อมถอยขององค์กรแบบมีลำดับชั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแค่กับขบวนการฝ่ายซ้าย หากแต่เป็น “เรื่องปกติ” ของสังคมสมัยใหม่
แมนเซอร์ โอลสัน (Mancur Olson) ได้อธิบายไว้ในหนังสือ The Logic of collective action ว่า
“องค์กรใดๆจะสามารถคงสภาพการเป็นองค์กรแบบมีลำดับชั้นได้ก็ต่อเมื่อ สามารถเลือกกระจายรางวัลหรือบทลงโทษให้กับสมาชิกโดยขึ้นอยู่กับการยอมปฏิบัติหน้าที่ตามลำดับชั้นนั้นๆ” (4)
แน่นอนว่าการให้รางวัลหรือบทลงโทษนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องทางการเงินเสมอไป การจำกัดหรืออนุญาตการเข้าใช้สื่อขององค์กรครั้งนึงก็เคยเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญขององค์กรทางการเมืองต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันไม่ว่าใครก็สามารถครอบครองการใช้สื่อได้ ขอเพียงเปิดแอคเคาท์ในโซเชียลมีเดียเท่านั้น และ ถ้าหากเกิดความขัดแย้งภายในองค์กรใดๆเกิดขึ้น พวกเขาก็แค่แยกออกมาตั้งกลุ่มเล็กๆขึ้นใหม่เอง
อีกประเด็นที่ควรพิจารณา คือ การมองการประท้วงในเลนส์ของ “ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ” ของมนุษย์โดย เบวินส์ได้ยกตัวอย่างประสบการณ์เหล่านี้ว่า
“มันรู้สึกเหมือนกับว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้นในธรรมชาติของเวลา สิ่งนั้นทำให้เกิดรอยแยกบนโครงสร้างของความเป็นจริง … ทุกๆสิ่งเป็นไปได้หมด”
“มัน คือ การหลบหนีจากสภาวะแปลกแยกของชีวิตประจำวัน”
“ความเชื่อมต่ออันลึกซึ้งไร้ตัวกลางกับมนุษย์อีกคนหนึ่ง”
“ (เธอกลายเป็น) ส่วนหนึ่งของยักษ์, ลูกบอลแห่งความสุขสันต์ ที่กระเพื่อมและเติบโตขึ้นด้วยพลังมวลชนซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นจริง การเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์”
แนวทางแบบแนวระนาบนิยมไม่ใช่ทางออกของปัญหา หากแต่ว่าเป็นกับดัก ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการถกเถียงทางวิชาการ ดังที่นักปฏิวัติชาวอียิปต์ไม่ทราบชื่อท่านหนึ่งได้กล่าวไว้
“ในนิวยอร์ค หรือ ปารีส ถ้าคุณทำองค์กรเคลื่อนไหวแนวระนาบ, ไร้แกนนำ, การลุกฮือแบบหลังอุดมการณ์ (Post-ideological uprising) และมันล้มเหลว คุณอาจได้รับงานเป็นสื่อหรืองานวิชาการทำ แต่ข้างนอกนั่นในโลกความเป็นจริง ถ้าหากการปฏิวัติล้มเหลว เพื่อนทั้งหมดของคุณจะติดคุก ไม่ก็เสียชีวิต”
โดยสรุปแล้วในบทความนี้ไม่ได้มีการนำเสนอทางออกให้แก้ปัญหาดังกล่าว แต่ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะสามารถเปิดประเด็นปัญหาของการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อที่ในการต่อสู้ครั้งต่อๆไปพวกเราจะทำได้ดีขึ้น มันไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะมีความฝัน แต่จะดีกว่านั้นหากเรามี “คำตอบ” ควบคู่กันไปด้วย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
(1,2,3,4) Samantha//Hancox-li//2024.//Why Movements Fail.//https://www.liberalcurrents.com/why-movements-fail/./1/กุมภาพันธ์/2024